การศึกษาปัญหาและความต้องการในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
DOI:
https://doi.org/10.14456/edupsru.2017.2Keywords:
ปัญหาและความต้องการ, ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู, นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษาAbstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพื่อสำรวจปัญหา และความต้องการในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2559 จำนวน 44 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ลักษณะคำถามเป็นแบบเลือกตอบ (Check List) ประกอบด้วย เพศ ระดับผลการเรียน สื่อ/นวัตกรรมที่ผลิตหรือใช้ในการจัดการเรียนการสอน ส่วนที่ 2 แบบสอบถามปัญหาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ลักษณะคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) และส่วนที่ 3 ความต้องการเกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ข้อคำถามเป็นลักษณะปลายเปิดที่ให้ผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้: มีปัญหาที่พบมากที่สุดคือปัญหาด้านตัวนักเรียน (=2.87) และปัญหาที่พบน้อยที่สุด คือด้านการนิเทศ (=1.45) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าปัญหาที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือนักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เชื่อฟัง (=3.18) นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน (=2.91) และนักเรียนมีความผิดปกติด้านสมอง(=2.73) ซึ่งอยู่ในด้านตัวนักเรียน ความต้องการในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ปีการศึกษา 2559 พบว่า นักศึกษาอยากมีเวลาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น เนื่องจากบางโรงเรียนให้ทำกิจกรรมต่างๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิชาการมากเกินไป ทำให้บางครั้งสอนไม่ทัน อยากมีงบประมาณช่วยสนับสนุนในการสร้างสรรค์สื่อและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน อยากให้มีการฝึกอบรมในการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีการจัดอบรมการเขียนแผนการสอนให้มีมาตรฐานเดียวกัน