แนวทางการบริหารงานวิชาการในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ

Authors

  • ขวัญญานันท สมบูรณไตรภพ
  • ศิริวิมล ใจงาม

DOI:

https://doi.org/10.14456/edupsru.2015.11

Abstract

การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาการบริหารงานวิชาการในการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2) ศึกษาแนวทางการบริหารงานวิชาการในการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้บริหารและผู้ช่วยฝ่ายวิชาการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 7 โรงเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ด้วยการวิเคราะห์สาระ (Content Analysis) นำเสนอด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  พบว่า 1. ปัญหาการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏมีปัญหาการบริหารงานวิชาการมากที่สุดคือ ด้านการวัดและประเมินผล ซึ่งพบว่า บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจ และการจัดการงานวัดผลที่ยังไม่เป็นระบบ ทำให้ใช้การวัดผลประเมินผลไม่เหมาะสม โดยหลายโรงเรียนไม่ได้วางแผนกำหนดเกณฑ์และเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ยังคงใช้เครื่องมือวัดผลชุดเดียวกับนักเรียนปกติ แต่ปรับเกณฑ์การประเมินผลให้ต่ำลง ปัญหารองลงมาคือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ซึ่งพบว่า มีปัญหาด้านครูผู้สอน โดยครูขาดทักษะในการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และขาดครูที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาพิเศษ 2. แนวทางการบริหารงานวิชาการในการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ จากปัญหาการบริหารงานวิชาการที่พบทั้งสองด้าน กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอแนวทางการบริหารงานวิชาการดังกล่าว ดังนี้ คือ โรงเรียนควรพัฒนาครูและบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดผล ประเมินผลผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน ควรกำหนดนโยบายให้ผู้สอนดำเนินการวัดผลประเมินผลโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้จัดทำเครื่องมือการวัดผลประเมินผลที่หลากหลาย ควรประสานกับคณะครุศาสตร์จัดอาจารย์พี่เลี้ยงที่มีความรู้ มาเป็น Coach ให้ครูให้สามารถกำหนดลำดับขั้นทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นขั้นๆ สอนตามขั้นย่อย แล้ววัดผลตามวัตถุประสงค์ และควรจัดทำคู่มือ/ตัวอย่างเครื่องมือ การวัดและประเมินผลที่เหมาะสมให้ครูการบริหารด้านการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนควรพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เทคนิคการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรจัดระบบงานวิชาการที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษและการจัดการเรียนร่วม มีการสร้างความตระหนักร่วมกัน มีคู่มือการดำเนินงานวิชาการ และควรจัดสรรให้มีการบรรจุครูที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษในโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือให้การจัดการเรียนร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Downloads

Issue

Section

บทความวิจัย