ปัจจัยจำแนกการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูของมหาวิทยาลัยทักษิณ
DOI:
https://doi.org/10.14456/edupsru.2014.10Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สามารถจำแนกการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูของนิสิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และสร้างสมการจำแนกประเภทปัจจัยจำแนกการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูของมหาวิทยาลัยทักษิณ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา จำนวน 400 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยจำแนกการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์จำแนกประเภท (Discriminant Analysis) วิธีแบบลำดับขั้นตอน (Stepwise Method)
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยจำแนกการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูของมหาวิทยาลัยทักษิณ ตัวแปรที่สามารถทำนายการเข้าศึกษาในหลักสูตรผลิตครูได้ดีที่สุดคือ การสนับสนุนจากครอบครัว (SFF) รองลงมาคือ การได้รับแรงบันดาลใจจากครู (RIT) และตัวแปรที่สามารถทำนายได้น้อยที่สุดคือ ระดับการศึกษาสูงสุดของผู้ปกครองในระดับปริญญาโท (EDU3) และเขียนสมการจำแนกกลุ่มในรูปคะแนนมาตรฐานได้ คือ Z = 0.659 (ZSFF) + 0.472 (ZRIT) + 0.197 (ZEDU3) โดยสมการจำแนกกลุ่มสามารถพยากรณ์การเป็นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มได้ถูกต้องร้อยละ 78.0