จริยธรรมการตีพิมพ์
การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีรายละเอียดตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เขียน/เจ้าของผลงาน
(1) ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานที่มีความประสงค์จะตีพิมพ์เป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
(2) ผู้เขียนต้องไม่มีการแอบอ้าง หรือนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนเองโดยขาดการอ้างอิง และต้องมีการจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ครบถ้วนสมบูรณ์
(3) บทความประเภทบทความวิจัย ผู้เขียนต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
(4) ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำผลงานทางวิชาการจริง
(5) บทความที่มีความประสงค์ตีพิมพ์ จะต้องจัดรูปแบบตามที่ทางวารสารได้กำหนดไว้ และผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนสนับสนุนในการทำผลงานวิชาการลงในบทความให้ชัดเจน
หน้าที่และความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ
(1) บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพ และดำเนินการให้เกิดกระบวนการประเมินคุณภาพบทความที่มีความเป็นธรรม ปราศจากอคติ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขานั้นๆ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และรับรองคุณภาพของผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์
(2) บรรณาธิการมีการตรวจสอบการพิมพ์ซ้ำซ้อน (duplication) และการลอกเลียนผลงานวิชาการ (plagiarism) อย่างเป็นระบบชัดเจน โดยหากตรวจพบการคัดลอกในระหว่างกระบวนการประเมินบทความก่อนพิจารณาตีพิมพ์ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการพิจารณา และติดต่อผู้เขียนเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อใช้ประกอบการ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" การตีพิมพ์ผลงาน
(3) บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และเนื้อหาของบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในทุกกรณีระหว่างการดำเนินการพิจารณาบทความ
(4) บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์ตามคุณภาพ ไม่รับตีพิมพ์บทความเพื่อผลประโยชน์ โดยบรรณาธิการจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และไม่นำบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ
(5) บรรณาธิการต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานของวารสาร ปรับปรุง และพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประเมินบทความ
(1) ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
(2) หากผู้ประเมินเห็นว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบในทันที
(3) ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการที่ตนเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ และไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพบทความ
(4) หากผู้ประเมินบทความตรวจสอบพบว่าบทความที่กำลังประเมิน เป็นบทความที่ลอกเลียนผลงานวิชาการ บิดเบือนผลการวิจัย หรือใช้ผลการวิจัยเท็จ ผู้ประเมินต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบทันที
(5) ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาในการประเมินตามกรอบเวลาที่บรรณาธิการวารสารกำหนด
(6) ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน