การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในจังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
Abstract
งานวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในจังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจการจัดการการสื่อสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเปิดรับข่าวสาร ความรู้ความเข้าใจและทัศนคติ เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นบุคลากรวิเทศสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนโดยการสัมภาษณ์ในการเก็บข้อมูล และนักศึกษามหาวิทยาลัย 4 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ โดยใช้เครื่องมือแบบสอบถาม (Questionnaire) ในการเก็บข้อมูล และสถิตที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ วิเคราะห์เนื้อหาจากแบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้สถิติ ค่าแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า
1. มหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ มีนโยบายและจุดประสงค์ไปในทิศทางเดียวกันในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนให้กับบุคลากร อาจารย์ และนักศึกษา แต่มีการวางแผนการสื่อสารแตกต่างกัน คือ รูปแบบการสื่อสารจะมีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย
2. นักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มีการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและการได้รับความรู้ความเข้าใจจากสื่อเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มากที่สุด คือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาสื่อสิ่งพิมพ์ น้อยที่สุด คือ สื่อกิจกรรม
3. นักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ ทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 55.50 รองลงมา มีความรู้ความเข้าใจระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 34.13 และระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 10.98
4. นักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ มีทัศนคติเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยภาพรวมเห็นด้วยในระดับมาก พบว่า นักศึกษามีทัศนคติเห็นด้วยมากที่สุดกับการต่อต้านการก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกันของอาเซียน รองลงมาคือนักศึกษามีทัศนคติเห็นด้วยที่แรงงานไทยจะเสียเปรียบเนื่องจากข้อจำกัดในการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน และนักศึกษาเห็นด้วยน้อยที่สุดกับการใช้เงินสกุลเดียวของอาเซียน โดยยกเลิกสกุลเงินของตนเอง (รวมทั้งเงินบาทไทย)
COMMUNICATION FOR ENHANCING KNOWLEDGE AND UNDERSTANDING ABOUT ASEAN : A CASE STUDY OF UNIVERSITIES IN CHIANG MAI PROVINCE.
abstract unavailable