ปัญหาการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่เสร็จเรียบร้อยตามแผนการกระจายอำนาจงานบริการด้านสาธารณสุขและทรัพยากรจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา มี 2 กลุ่ม คือ 1) บุคลากรสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังไม่ได้รับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 400 คน 2) บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ความถี่ (Frequency) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และเกณฑ์การวิเคราะห์ของ Best
ผลการวิจัยครั้งนี้ พบว่า สาเหตุที่ทำให้การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลจากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เรียงตามลำดับระดับความสำคัญของสาเหตุจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดเกี่ยวกับ 1) การจัดสรรงบประมาณในการจ้างบุคคลากรด้านสาธารณสุข 2) รายได้มีไม่เพียงพอในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำหรับให้บริการประชาชน 3) งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการบริหารงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 4) การจัดหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 2. บุคลากรสังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลมีความกังวลใจเกี่ยวกับ 1) ความมั่นคงของตำแหน่งงานของตน 2) อัตรากำลังระยะยาวที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรไว้รองรับ 3) บำเหน็จบำนาญ 4) ความก้าวหน้าเกี่ยวกับตำแหน่งงานของตน 5) ความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับจ้างบุคคลากรด้านสาธารณสุข 6) สวัสดิการที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน 7) ความพอเพียงของงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุข 8) รายได้ที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน 9) ผลตอบแทนที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน 10) ความช้ำซ้อนของตำแหน่งงาน 3. คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1) ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเตรียมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 2) ไม่ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด 3) ไม่กระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด 4. ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีนโยบายรับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล
แนวทางแก้ปัญหาการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้ 1.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นควรลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและให้การสนับสนุนรายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลด้านสาธารณสุข 2.กระทรวงสาธารณสุข ควรชี้แจงให้บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทราบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินความพร้อม มีความชัดเจนในการกำหนดตำแหน่งภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ สายการบังคับบัญชาและกรอบอัตรากำลังที่จัดสรรไว้รองรับบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพออย่างเป็นรูปธรรม 3.คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสำคัญ ผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมกระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลอย่างต่อเนื่อง 4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดนโยบายในการรับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่มีความชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับ แผนการดำเนินการ การจัดสรรอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งหน้าที่ สายการบังคับบัญชา รวมถึงการสอบถามความเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
PROBLEMS OF TRANSFERRING DISTRICT HEALTH PROMOTING HOSPITALS FROM THE MINISTRY OF PUBLIC HEALTH TO LOCAL GOVERNMENT ORGANIZATIONS IN CHIANG MAI PROVINCE.
abstract unavailable