ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ระหว่างผู้เรียนที่มีแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

Main Article Content

ปรานี นันทะแสน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  2)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน หลังการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  คือ  นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/7  และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2/8  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา  2559  โรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 24  จำนวน  2 ห้องเรียน  ทั้งหมด  42  คนได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  1)  แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาเรื่องการจำแนกสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  จำนวน  7  แผน  เวลา  14  ชั่วโมง  มีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรายแผนตั้งแต่  4.70  ถึง 4.85 และมีค่าเฉลี่ยโดยรวม เท่ากับ  4.75  ค่า  S.D. = 0.29  2) แบบสำรวจการเรียนรู้ของผู้เรียน  จำนวน  60 ข้อ 3)  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์  เรื่องการจำแนกสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน  40 ข้อ มีค่าความยากง่าย  ตั้งแต่ 0.23  ถึง 0.77 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.88  4)  แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  13  ทักษะ  ชนิดเลือกตอบ 4  ตัวเลือก  จำนวน  30  ข้อ มีค่าความยากระหว่าง  0.27 - 0.70  อำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง  0.20- 0.60  และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.87  5)  แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์  เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Likert  Scale)  5  ระดับ  จำนวน  20  ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง  3.40  ถึง  5.00  และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.87  สถิติที่ใช้ คือ  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ  Paired  Samples  t-test , F-test (One-way MANOVA)  ผลการวิจัยปรากฏดังนี้


                   1)  นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา  มีค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์  ก่อนเรียนเท่ากับ  12.07, 11.21  และ 3.82 (อยู่ในระดับมาก)  ตามลำดับ  ในขณะหลังเรียนเท่ากับ  25.21,  21.07  และ  4.53  (อยู่ในระดับมากที่สุด) คิดเป็นร้อยละ  52.12,  46.80  และ 15.67  ตามลำดับโดยนักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05    


                        2)  นักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกัน  แต่ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05 โดยนักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบนักไตร่ตรอง  มีคะแนนเฉลี่ยของทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์สูงกว่าแบบการเรียนรู้อื่น ๆ 

Article Details

บท
บทความวิจัย