การสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 4 ภายใต้สถานการณ์ COVID-19: กรณีศึกษาโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์

Main Article Content

นิธิศ ธงภักดิ์
มนัสวี แก้วผลึก
วริษฐา เทียมทิพร
วาศิณี สุวรรณระวี
วาศิณี สุวรรณระวี
คุณิตา ตันเจริญสุข

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 4 ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ (โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์) และ 2) เพื่อสังเคราะห์ผลสรุปข้อเสนอแนะการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 4 ระยะแรกและระยะสองภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ข้อมูลที่นำมาใช้สังเคราะห์ประกอบด้วยรายงานผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 จำนวน 31 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 4 เกี่ยวกับคะแนนการประเมินและข้อเสนอแนะจากกรรมการ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)


ผลการวิจัย พบว่า


1. การสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 4 การประเมิน SAR สถานศึกษาได้รับรองในมาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ และสถานศึกษาในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับรองมาตรฐานในระดับดี ร้อยละ 100 ส่วนสถานศึกษาในภาคใต้ ได้รับรองมาตรฐานในระดับดี ร้อยละ 70 และระดับพอใช้ ร้อยละ 30 ในมาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและหลักการจัดการ พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่และสถานศึกษาในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับรองมาตรฐานในระดับดี ร้อยละ 100 ส่วนสถานศึกษาในภาคใต้ ได้รับรองมาตรฐานในระดับดี ร้อยละ 90 และระดับพอใช้ ร้อยละ 10 ในมาตรฐานที่ 3 การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ของสถานศึกษาในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ได้รับรองมาตรฐานในระดับดี ร้อยละ 100


2. การสังเคราะห์ผลสรุปข้อเสนอแนะการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 4 ระยะแรกและระยะสอง พบว่า มาตรฐานที่ 1 ส่วนใหญ่สถานศึกษายังระบุข้อมูลใน SAR ไม่ครบถ้วนและชัดเจนในบางประเด็นควรระบุค่าเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับพันธกิจและวิสัยทัศน์สถานศึกษา ผ่านการทำ SWOT มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ พบว่า สถานศึกษาควรมีรายละเอียดรูปแบบการบริหารที่ชัดเจนและเป็นระบบ มีการพัฒนาแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปี ระบุค่าเป้าหมายในการพัฒนาให้ชัดเจน และควรดำเนินงานและจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และในมาตรฐานที่ 3 การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า สถานศึกษาควรมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และส่งเสริมให้ครูนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ มีการจัดทําวิจัยในชั้นเรียนผ่านกระบวนการ PLC โดยการระดมการมีส่วนร่วมจากผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ครูมีการวัดและประเมินผลผู้เรียนอย่างเป็นระบบและหลากหลาย และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงศึกษาธิการ. (2553). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด.

สุบิน ยุระรัช และคณะ. (2564). การสังเคราะห์รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของศูนย์พัฒนาเด็กสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถานศึกษาอุดมศึกษา. วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม ชลบุรี, 7(2), 80-97.

สุภามาส อังสุโชติ. (2561). การสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไประดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา. วารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม, 8(2), 182-201.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน. (2550). มาตรฐานการศึกษา ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ: โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน. (2554). แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน. (2564). แนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการ์ณโควิด-19. เข้าถึงได้จาก http://www.onesqa.or.th/upload/download/202103301453359.pdf. 5 กันยายน 2564.

สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ. 2559. แผนพัฒนาการจัดการศึกษาสงเคราะห์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564). นครปฐม: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.