การประเมินโครงการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

Main Article Content

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะวดี ยอดนา

Abstract

การประเมินโครงการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

Evaluation of SakonNakhonRajabhat University’s Projects on Managing Education for Foreign  Students

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ความมุ่งหมายของการวิจัย 1) เพื่อประเมินโครงการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยใช้แนวคิด CIPP MODEL ประกอบด้วยด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ 2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาต่างชาติ ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา/นายจ้าง ของนักศึกษาต่างชาติ ต่อโครงการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ 3) เพื่อวัดระดับความคิดเห็นของผู้บริหารต่อโครงการต่างประเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักศึกษาต่างชาติ ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา/นายจ้าง ของนักศึกษาต่างชาติ หัวหน้าศูนย์ลาวศึกษา หัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และหัวหน้าศูนย์เวียดนามศึกษา รวมทั้งสิ้น 235 คน ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามวัดระดับความพึงพอใจ โดยใช้มาตรส่วนประมาณค่า (Rating Scale) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  

            ผลการศึกษา พบว่า

1. นักศึกษาต่างชาติ มีความพึงพอใจต่อโครงการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภาพรวมอยู่ในระดับมาก หลักสูตรมีความทันสมัย สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้สอนมีความรู้ความสามารถในรายวิชาที่สอน ผู้บริหารและบุคลากรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการจัดการเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย ที่เอื้อต่อการเรียนรู้

2. ผู้บังคับบัญชา/นายจ้าง มีความพึงพอใจต่อโครงการจัดการศึกษาด้านหลักสูตรมากที่สุด ลูกจ้างหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ  มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิธีการทำงานให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. ผู้ปกครองของนักศึกษาต่างชาติ มีความพึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการจัดการศึกษา ด้านบุคลากรผู้สอน ความสามารถในการสอน หลักสูตรมีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

4. ความคิดเห็นของผู้บริหาร ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ หัวหน้าศูนย์ลาวศึกษา และหัวหน้าศูนย์เวียดนามศึกษา ต่อโครงการต่างประเทศ ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรระหว่างประเทศ ความคิดเห็นของหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศดีขึ้น โครงการพัฒนางานด้านวิเทศสัมพันธ์และศูนย์บริการนักศึกษาต่างชาติ ความคิดเห็นของหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์อยู่ในระดับมาก วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ใช้ในงานวิเทศสัมพันธ์มีความเพียงพอ ทำให้การปฏิบัติงานสะดวกขึ้น

โครงการพัฒนาฐานข้อมูลลาวศึกษา ความคิดเห็นของหัวหน้าศูนย์ลาวศึกษา ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ศูนย์ลาวสามารถใช้ระบบฐานข้อมูลประเทศลาวที่ทันสมัยง่ายแก่การค้นคว้า โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครกับแขวงคำม่วนและแขวงบลิคำไซ ความคิดเห็นของหัวหน้าศูนย์ลาวศึกษา ภาพรวมอยู่ในระดับน้อย กลุ่มเป้าหมายไม่ให้ความร่วมมือในการจัดประชุมทางวิชาการระหว่างสองประเทศเท่าที่ควร และโครงการศูนย์ไทยศึกษา ณ จังหวัดกวางตรี ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ความคิดเห็นของหัวหน้าศูนย์เวียดนามศึกษา ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวนของกลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในภาษาไทยและเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

5. ข้อเสนอแนะโครงการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ควรมีการจัดการศึกษาให้ตรงกับความรู้และความต้องการของนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาต่างชาติเชื่อมั่นในสถาบันว่า มีความตั้งใจในการสอนนักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ มีความรับผิดชอบ และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ 


Article Details

Section
บทความวิจัย