สื่อยุคใหม่ : อาหารเสริมสำหรับเด็กปฐมวัย
Main Article Content
Abstract
สื่อยุคใหม่ : อาหารเสริมสำหรับเด็กปฐมวัย
เด็กปฐมวัยเปรียบเสมือนผ้าขาว ที่รอการแต่งแต้มสีสันให้เกิดความงดงาม แต่ใครที่จะเป็นผู้ระบายสีนั้น ปัจจุบัน “สื่อ” เริ่มแทรกซึมเข้าไปในผ้าขาว เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของ ผู้คนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง จนกลายเป็นสิ่งปนเปื้อนที่อันตรายสำหรับเด็กปฐมวัย ยุคของข้อมูลข่าวสารอันไร้พรมแดนเช่นนี้ การรับข้อมูลเข้ามามีทั้งประโยชน์และโทษ ความสามารถในการรับข้อมูล การสื่อสาร การคัดสรร การคัดกรอง และการเข้าถึงของข้อมูลว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงนำมาซึ่ง “สื่อยุคใหม่” ที่เข้ามามีบทบาทต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย โดยทั่วไปแล้วสื่อเทคโนโลยีหมายถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ที่เป็นอุปกรณ์ ไฟฟ้า และสื่ออิเลคทรอนิกส์ต่างๆ ที่นำมาใช้ในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีความสะดวกสบายในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งเด็กที่ได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้สื่อเทคโนโลยีจะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมแห่งโลกเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
อิทธิพลจากสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการรับและการสื่อสาร เป็นสื่อยุคใหม่ที่เข้ามาแทนที่สื่อดั้งเดิม มากขึ้น (สื่อสิ่งพิมพ์, หนังสือแบบเรียน) สื่อยุคใหม่จึงส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งทางบวกและทางลบ ขณะที่เด็กยุคปัจจุบันสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้ง่าย โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่ แต่หากใช้อย่างขาดสติกับเด็กในช่วงปฐมวัยก็อาจนำไปสู่ปัญหาได้เช่นกัน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ระบุว่า สถานการณ์เด็กติดสื่อประเภทเกมในปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5 ในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9 ใน ปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยกำลังสำลักสื่อ เพราะปัจจุบันสื่อ ยุคใหม่ได้พัฒนารูปแบบที่หลากหลายอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งข้อมูลฉาบฉวยก็เข้ามาแทนที่การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ส่งผลให้เด็กเปลี่ยนแปลงแบบแผนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการเข้าถึงความรู้ของกระบวนการเรียนรู้ ภาพและเสียงที่นำเสนอใน สื่อ บางครั้งมีความไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์จิตใจของเด็ก ได้แก่ การกระทืบเท้า ร้องโวยวาย พูดจาไม่สุภาพ เล่นต่อสู้อย่างรุนแรง เลียนแบบตัวละครจากเกม เป็นต้น ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมีความรู้และเท่าทันผลกระทบของสื่อ ที่มีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก เพราะสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ไม่ได้หมายถึงโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น ดังนั้น หนังสือ นิทาน ดนตรี กิจกรรมต่างๆ บุคคลแวดล้อม สภาพแวดล้อม และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็กก็สามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใช้การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้เช่นเดียวกัน
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร