กระบวนทัศน์การรื้อสร้างหลักสูตรในยุคหลังสมัยใหม่

Main Article Content

ลดาวัลย์ มะลิไทย

Abstract

กระบวนทัศน์การรื้อสร้างหลักสูตรในยุคหลังสมัยใหม่

Reconceptualization Paradigm of Curriculum in Postmodern  Era

บทคัดย่อ

          ปลายศตวรรษที่ 20 มีนักการศึกษาด้านหลักสูตรได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรไว้หลากหลายและแตกต่างกันตามปรัชญา แนวคิด  และกระบวนทัศน์ที่นักการศึกษาด้านหลักสูตรได้ยึดตามอุดมการณ์ทางวิชาการของตนเอง ทำให้แนวคิดหลักสูตรเป็นไปตามกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Empirical) เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยการศึกษาด้านหลักสูตรแนวปฏิรูป  (Reconceptualists)  นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์และหลังสมัยใหม่   

            กระบวนทัศน์ยุคหลังสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการปลุกเร้าจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว การเคลื่อนย้ายผู้คน วัฒนธรรมข้อมูลข่าวสาร และเงินทุนข้ามพรมแดนรัฐชาติ การสิ้นสุดลงของสงครามเย็นและชัยชนะของระบบทุนนิยมภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กระแสเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะทำความเข้าใจได้ด้วยการระบุสัญชาติหรือแหล่งกำเนิดที่แน่นอน แต่กระแสเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมไปทั่วโลก เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการมองความรู้ความจริง เปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล และเปลี่ยนแบบแผนประเพณีต่างๆ ที่แต่ละชุมชนท้องถิ่นแต่ละประเทศเคยสืบทอดปฏิบัติกันมา กระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีนัยสำคัญต่อการกำหนดความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ควรปรากฏในหลักสูตรสำหรับพลเมืองศตวรรษที่ 21 (Gaudelli. 2008)

            หลักสูตรเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการให้ความสำคัญกับการวางแผนหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตรไปสู่การศึกษาประสบการณ์ทางการศึกษาที่เน้นการทำความเข้าใจอย่างใคร่ครวญ นักหลักสูตรจะต้องก้าวผ่านการพัฒนาหลักสูตรแบบเดิมไปสู่การปฏิรูปนิยามใหม่ของศาสตร์หลักสูตร เพื่อที่จะให้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเสมอภาค และความยุติธรรมในสังคมมนุษย์เกิดขึ้นอย่างแท้จริง (ออมสิน จตุพร. 2557)       

            ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าศาสตร์ด้านหลักสูตรมีรากฐานมาจากปรัชญา ประวัติศาสตร์ แนวคิด ทฤษฎี  และอุดมการณ์จากนักการศึกษาด้านหลักสูตรของสังคมนั้นๆ ซึ่งหลักสูตรจะมีลักษณะเป็นสหวิทยาการซึ่งเกิดจากกระบวนการวิพากษ์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในบริบทของความต้องการของสังคม ส่งผลให้หลักสูตรมีลักษณะทางวิชาการเฉพาะตัว


Article Details

Section
บทความวิชาการ