ประวัติศาสตร์ชาวไทยไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
Main Article Content
Abstract
ประวัติศาสตร์ชาวไทยไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
History of the Thai So People in Kusuman District, Sakon Nakhon
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลประวัติความเป็นมาชาว ไทยโส้ การอพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 2) การรวบรวมข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 3) สังเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเผ่าไทยโส้ในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วิธีดำเนินการวิจัย มี 5 ขั้นตอน คือ 1) กำหนดปัญหาที่ศึกษา 2) ขั้นรวบรวมและคัดเลือกหลักฐาน 3) ขั้นวิเคราะห์และตีความหลักฐาน
4) ขั้นสังเคราะห์ 5) ขั้นเสนอข้อเท็จจริง
วิธีการศึกษาใช้วิธีการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร เป็นหลักฐานทั้งเอกสารขั้นต้นและเอกสารชั้นรองประกอบกับการศึกษาภาคสนาม ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชนทั่วไปในหมู่บ้าน ชาวไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และท้องที่อำเภอ จังหวัดใกล้เคียงที่มีชาวไทยไทยโส้อาศัยอยู่ อาทิ เช่น อำเภอเมืองนครพนม อำเภอดงหลวง อำเภอหว่านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประวัติความเป็นมาของชาวไทยโส้ ในประเทศไทย พบว่า
1.1 ชาวไทยโส้ หรือกะโซ่ อยู่ในกลุ่มเชื้อสายมองโกลอยด์ เป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่มีภาษาพูดอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติค Astro-Asiatic กลุ่มมอญ – เขมร อพยพเข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐานหลักแหล่งในภาคตะวันออก
เฉียงเหนือของไทย ในจังหวัดสกลนคร ที่อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณนานิคม ในจังหวัดมุกดาหาร ที่อำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอหว่านใหญ่ ในจังหวัดนครพนม ที่อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอศรีสงคราม อำเภอปลาปาก ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ และในจังหวัดหนองคาย ที่อำเภอโซ่พิสัย
1.2 ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทยโส้ก่อนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย พบว่า มีถิ่นฐานดั้งเดิมกระจัดกระจายอยู่หลายเมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ เมืองอู เมืองวัง เมืองมหาชัยกองแก้วหรือภูวานากะแด้งและในบริเวณภาคกลางของประเทศ ได้แก่ เมืองพิณ เมืองนอง เมืองอ่างคำ เมืองพะลาน เมืองตะโปน เมืองน้ำ เมืองบก เมืองสูง เมืองคำเกิด คำม่วน และสะหวันนะเขต เป็นต้น
1.3 มูลเหตุของการอพยพเข้ามาประเทศไทย พบว่า ชาวไทยโส้ได้อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขง และมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเมืองสกลนคร นครพนม มุกดาหาร โดยอพยพเข้ามาหลายครั้ง โดยมีครั้งสำคัญ 2 ครั้งใหญ่ๆ คือ 1) ใน พ.ศ. 2359 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวไทยโส้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สาเหตุการอพยพมาจากความเชื่อในการทำนายของแถน 2) ในระหว่าง พ.ศ. 2371 – 2387 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สาเหตุการอพยพเกิดจากการ กวาดต้อน และเกลี้ยกล่อมของไทยให้อพยพข้ามฝั่งโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานในบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มชนชาติที่อยู่ในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นกองกำลังให้อาณาจักรเวียดนาม บริเวณที่กลุ่มชาวไทยโส้เข้ามาอาศัยและตั้งถิ่นฐาน มี 3 แห่งใหญ่ๆ คือ 1) เขตอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 2) เขตอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร 3) เขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
1.4 วิธีการอพยพของชาวไทยโส้เข้ามายังประเทศไทย พบว่า ชาวไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ อพยพเข้ามาโดยวิธีการถูกกวาดต้อนและถูกเกลี้ยกล่อมโดยราชสำนักกรุงเทพฯ ที่มอบหมายให้ขุนนางไทย และกลุ่มผู้นำชาวลาวที่เคยอาศัยอยู่ในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แต่มาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในไทย กลับไปเกลี้ยกล่อมบรรดาชาวลาวและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในหัวเมืองลาวให้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในไทย
2. ด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ ผลการศึกษาพบว่า
2.1 ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยโส้ พบว่าชาวไทไทยโส้ มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ที่มีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง ดังเช่น การละเล่นพื้นบ้าน การเล่นโส้ ทั้งบั้ง การเล่นรำลายกลอง และภาษาพูดของตนเอง
2.2 ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยไทยโส้ พบว่า มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยโส้ให้เกิดความรัก ความผูกผันและสามัคคีกัน เช่น ในด้านพิธีกรรมการเหยาเลี้ยงผีประจำปี เหยาเลี้ยงผีมูล เหยาเลี้ยงผีน้ำ พิธีกรรมการเหยาเรียกขวัญ เหยารักษาคนป่วย เหยาแก้บนส่วนในด้านประเพณี ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การแต่งงาน การตาย และเพณีอื่นๆ
2.3 ด้านความเชื่อ พบว่า ชาวไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ ภูตปีศาจ ไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา และมีความศรัทธาในการทำบุญควบคู่กับการนับถือผีประเภทต่างๆ และพิธีกรรมจนกลายเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร