ปัจจัยองค์กรที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยองค์กรของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด 2) ศึกษาประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ดและ 3) สร้างสมการพยากรณ์ประสิทธิผลโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 294 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการทดสอบสมมติฐาน ใช้สถิติการถดถอยพหุคูณแบบลำดับขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression) ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยองค์กรของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายปัจจัยพบว่า ทุกปัจจัยมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ปัจจัยลักษณะบุคคลในองค์กร ลักษณะสภาพแวดล้อม ลักษณะนโยบายการบริหารและการปฏิบัติ และลักษณะองค์กร ตามลำดับ
2. ประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวมมีประสิทธิผลอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าทุกด้านมีประสิทธิผลอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ การบริหารวิชาการ การบริหารทั่วไป การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล ตามลำดับ
3. การสร้างสมการพยากรณ์ประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าปัจจัยองค์กรลักษณะของนโยบายการบริหารและการปฏิบัติ (X4) เป็นตัวแปรพยากรณ์ที่สามารถพยากรณ์ประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ดได้ดีที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) เท่ากับ .866 และมีอำนาจของการพยากรณ์เท่ากับร้อยละ 75.0 เมื่อเพิ่มตัวแปรพยากรณ์ ปัจจัยลักษณะของบุคคลในองค์กร (X3) ปัจจัยลักษณะองค์กร (X1) และปัจจัยลักษณะของสภาพแวดล้อม (X2) พบว่าตัวแปรพยากรณ์ดังกล่าวสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของประสิทธิผลของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ร้อยละ 78.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยในรูปคะแนนดิบ คือ .470, .191, .128 และ .120 และมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยในรูปคะแนนมาตรฐาน คือ .500, .185, .129 และ .123 ตามลำดับ
สมการพยากรณ์ในรูปแบบคะแนนดิบ
Y/ = .385 + .470X4 + .191X3 + .128X1 + .120X2
สมการพยากรณ์ในรูปแบบคะแนนมาตรฐาน
Z/y = .500zx4 + .185zX3 + .129zx1 + .123zx2
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร