แนวทางการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 31
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 ตามการรับรู้ของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบระบบงานระบบสารสนเทศ และเพื่อเสนอแนวทางการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 แยกตามขนาดโรงเรียน โดยมีกระบวนการในการจัด 6 ขั้นตอน คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล การประมวลผลข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ ประชากร คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้รับผิดชอบระบบงานระบบสารสนเทศ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 จำนวน 50 โรง รวม 100 คน กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 88 คน การรวบรวมข้อมูลการรับรู้ต่อสภาพการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 ใช้วิธีสำรวจด้วยแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และวิเคราะห์ข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การรวบรวมข้อมูลแนวทางการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 วิธีสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ครูผู้รับผิดชอบระบบงานระบบสารสนเทศ ของโรงเรียนที่มีค่าเฉลี่ยสภาพการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 สูงที่สุดของโรงเรียนแต่ละขนาด และทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายขั้นพบว่า ทุกขั้นของการจัดระบบสารสนเทศอยู่ในระดับมาก โดยค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ การตรวจสอบข้อมูล รองลงมาคือการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ การจัดเก็บข้อมูล และค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ การวิเคราะห์ข้อมูล
2. แนวทางการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 แยกตามขนาดโรงเรียน โดยภาพรวมของโรงเรียนทุกขนาด ได้เสนอแนวทางการจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร ที่เหมือนกัน คือ โรงเรียนได้มีขั้นตอนในการจัดระบบสารสนเทศ มีการกำหนดนโยบายการจัดระบบสารสนเทศในสถานศึกษา มีการประชุมวางแผนการปฏิบัติงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน แต่งตั้งทีมงานหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละงานอย่างชัดเจน ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการจัดระบบสารสนเทศ ต้นสังกัดให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ
ขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล คำนึงถึงความต้องการของการนำไปใช้ มีแบบฟอร์มในการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งที่ควรอยู่ทั้งในและนอกโรงเรียน และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นการตรวจสอบข้อมูล มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะนำไปประมวลผล ตรงตามความต้องการของการนำไปใช้หรือแบบฟอร์มที่เก็บรวบรวม ตรงตามประเภทของข้อมูล
ขั้นการประมวลผลข้อมูล มีการประมวลผลทั้งทำด้วยมือและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการประมวลผล
ขั้นการจัดเก็บข้อมูล มีจัดเก็บข้อมูลเป็นหมวดหมู่ แยกประเภทของข้อมูล มีป้ายกำกับ แยกเป็นปีการศึกษาอย่างชัดเจน สารสนเทศจัดทำเป็นรูปเล่ม ข้อมูลเก็บในลักษณะแฟ้มเอกสาร และสำรองข้อมูลในแผ่นซีดี หรือแผ่นดีวีดี ทำเป็นตารางในรูปแบบเอกสารและไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่เป็นข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น
ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล มีการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศที่ได้ประมวลผลมาแล้ว นำไปเปรียบเทียบให้สอดคล้อง เหมาะสมกับการนำไปใช้ในการประกอบการทำงาน การตัดสินใจ ยังไม่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้อย่างชัดเจน
และขั้นการนำข้อมูลไปใช้มีการนำข้อมูลที่ไดไปใช้ประกอบการตัดสินใจตามวัตถุประสงค์ รายงานข้อมูลไปยังหน่วยงานต้นสังกัดตามระยะเวลาที่กำหนด เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทั้งในและนอกโรงเรียน มีรูปแบบการรายงานผลและนำเสนอข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งในรูปเอกสารแผ่นพับ รูปเล่มวารสาร และผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต นำข้อมูลที่ไดไปวางแผน แกไข พัฒนา และปฏิบัติจริงในการบริหารสถานศึกษา
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร