ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขามเมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขาม เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) พัฒนายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขาม เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้หลุดพ้นจากความยากจน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 2 ประเภท ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัญหาการแก้ไขปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขาม เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งผู้วิจัยขอนำเสนอรายละเอียดตามลำดับ ดังนี้
1.1 ด้านการศึกษาปัญหาด้านการศึกษาที่พบส่วนใหญ่สรุปได้ดังนี้ 1) ไม่มีโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษา ถ้าต้องการศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาต้องนั่งรถไปโรงเรียนอีกอำเภอหนึ่ง (ประมาณ 5 กิโลเมตร) 2) นักเรียนไม่มีพาหนะ เช่น รถมอเตอร์ไซค์และจักรยาน เพราะว่าฐานะยากจน 3) ประชานต้องการครูสอนทางด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมบ้านวัฒนธรรมตามนโนบายของรัฐ 4) ขาดวัสดุ อุปกรณ์ในการเรียนการสอน 5) ขาดผู้ดูแลรับผิดชอบในด้านอาคารสถานที่ในบริเวณโรงเรียน 6) ขาดครูประจำชั้นเพราะการจัดสรรของกระทรวงศึกษาธิการ 7) ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค และบริโภคในโรงเรียน
1.2 ด้านกสิกรรมปัญหาด้านกสิกรรมที่พบส่วนใหญ่สรุปได้ดังนี้ 1) ขาดแหล่งน้ำในการประกอบอาชีพทางด้านกสิกรรม เช่น ขาดน้ำในการรดผัก เลี้ยงสัตว์ และน้ำดื่ม เป็นต้น สาเหตุมาจากระบบน้ำรินที่ภาครัฐสร้างขึ้นมีระยะทางจากต้นน้ำประมาณ 15 กิโลเมตร ขาดการดูแลและผู้รับผิดชอบ (น้ำที่จะใช้ได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น) 2) สัตว์เลี้ยงเป็นพยาธิ (โรค) เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ 3) ขาดพันธุ์พืชในการเพาะปลูก (ถ้ามี) ปัญหาที่ตามมาก็คือแหล่งน้ำในการดำเนินการเพาะปลูก 4) พื้นที่ในการทำนามีน้อย เพราะว่าเกิดจากภัยน้ำท่วมทำให้ไม่ได้รับผลผลิตเท่าที่ควร ต้องการให้ภาครัฐจัดสรรที่ดินเพิ่ม
1.3 ด้านคมนาคม ปัญหาด้านคมนาคมที่พบส่วนใหญ่สรุปได้ดังนี้ 1) ในหมู่บ้านประชาชนต้องการถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านเพราะจะทำให้ประชาชนไปมาหาสู่กันได้ และเป็นช่องทางในการค้าขายอีกด้วย 2) ประชาชนต้องการให้รัฐมีรถประจำทางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอำเภอเพื่อสะดวกในการไปโรงเรียน 3) ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากความทุกข์ยากเพราะรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต (ไฟฟ้ามีแต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนไม่มีปัญญาที่จะซื้อหม้อแปลงมาติดเข้าบ้านได้) 4) ขาดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชนในการก่อสร้างเส้นทางต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าใครอนุญาตให้ทำ (ขาดการชี้แจง/ประชาสัมพันธ์/ประชาวิจารณ์)
1.4 ด้านสาธารณสุขปัญหาด้านสาธารณสุขที่พบส่วนใหญ่สรุปได้ดังนี้ 1) ไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี 2) ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในด้านสุขภาพ เช่น อ่านชื่อยาไม่ออก หมอให้ยาอะไรมาก็กิน เป็นต้น 3) ประชาชนในบ้านท่งขามขาดเตียงรักษาผู้ป่วยประจำหมู่บ้าน เพราะว่ามีไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน 4) ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการอุปโภคและบริโภคทำให้ประชาชนเป็นพยาธิ (โรค) เช่น การดื่มน้ำที่ถูกสุขอนามัย และการเข้าใช้ห้องน้ำ เพราะประชาชนนิยมเข้าป่าปัญหาเนื่องจากขาดแคลนน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
2. การดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น สามารถสรุปการแก้ไขปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขาม เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ด้าน โครงการจำนวน 12 โครงการ
3. ความคิดเห็นว่าความเหมาะสมและเป็นประโยชน์การนำไปใช้ของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน กรณีศึกษา : บ้านท่งขามเมืองบัวละพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่ในระดับมาก
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร