แนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ในเขตพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว
Main Article Content
Abstract
การศึกษาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อศึกษาสภาพปัญหาและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ศึกษาความต้องการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาของผู้ประกอบการ ศึกษานโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลจากประชากรจำนวน 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มแรงงานต่างด้าว จำนวน 50 คน เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 128 คน และกลุ่มที่ 3 กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 368 คน เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวม มีค่าความเที่ยงของแบบสอบถามเท่ากับ 0.9637 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนา ค่าสถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย
ผลการศึกษาพบว่า
ส่วนที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประชากรที่ศึกษากลุ่มแรงงานต่างด้าว 1)ด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายก่อนเข้าทำงานทุกคน ส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง 2) ด้านความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยในสถานที่พักของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา พบว่ามีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารพิษหรืออุบัติเหตุ 3) ด้านค่าจ้างและสวัสดิการของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา พบว่าได้รับเป็นทั้งรายวันและเดือน สำหรับเงินชดเชยนั้นขึ้นอยู่กับนายจ้างและลูกจ้างว่าได้ทำการขึ้นทะเบียนหรือไม่ 4) ด้านสังคม พบว่ามีเพื่อนชาวกัมพูชาที่คอยพึ่งพา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและในส่วนของนายจ้างก็ให้การช่วยเหลือแรงงาน
ส่วนที่ 2 ศึกษาความต้องการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาของผู้ประกอบการ ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประชากรกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ระดับความคิดเห็น ของผู้ประกอบการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาตามรายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รองลงมาคือปัจจัยด้านคุณลักษณะของแรงงาน
แนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว พบว่าระดับความคิดเห็น ของผู้ประกอบการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาตามรายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการจัดทำทะเบียนแรงงานต่างด้าว รองลงมาคือด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการปราบปรามจับกุมดำเนินคดี
ส่วนที่ 3 ระดับความคิดเห็น ด้านนโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประชากรกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าระดับความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยเรื่องที่มีระดับความคิดเห็นมากที่สุดคือด้านบุคลิกภาพของผู้ปฏิบัติงาน รองลงมาคือ ด้านความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร