การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาล ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

Main Article Content

วิลาวัณย์ นาไชยดี

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาลตำบลกมลาไสยและหาแนวทางในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชน  เทศบาลตำบลกมลาไสย  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดคือคณะกรรมการชุมชนเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 12 ชุมชน คณะกรรมการชุมชนละ 12 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 144  คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามตามแบบมีโครงสร้างเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่  2  คำถามเกี่ยวกับข้อมูลการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกายภาพ ด้านเศรษฐกิจและด้านการบริหารจัดการ  ตอนที่ 3 คำถามปลายเปิด  ข้อเสนอแนะอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทศบาลตำบลกมลาไสย  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าความถี่  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การตรวจสอบข้อมูลคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา จัดหมวดหมู่ของเนื้อหาและข้อเสนอโดยความเรียง

            ผลการวิจัยพบว่า

                 1.  ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ  61.8 และเพศชาย คิดเป็น
ร้อยละ  38.2  กลุ่มตัวอย่างที่มากที่สุดอายุระหว่าง 51 – 60 ปี มี 68 คน คิดเป็นร้อยละ 47.2 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  คิดเป็นร้อยละ  36.1 ไม่มีประชากรที่ไม่ได้เรียนหนังสือ  การประกอบอาชีพกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 50.0 กลุ่มตัวอย่างมีรายได้ของครอบครัวต่อเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มีรายได้ตั้งแต่  5,000–9,999 บาท คิดเป็นร้อยละ 56  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่ม อสม. คิดเป็นร้อยละ  51.4 และน้อยที่สุดคือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน  คิดเป็นร้อยละ  3.5

                 2.  การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาลตำบลกมลาไสยพบว่าคณะกรรมการชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในด้านสังคม  ด้านสิ่งแวดล้อม  ด้านกายภาพ  ด้านเศรษฐกิจ  และด้านการบริหารจัดการ  อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน  สรุปค่าเฉลี่ยเป็นรายได้  ค่าเฉลี่ยด้านเศรษฐกิจมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ   2.96  รองลงมาคือ ด้านกายภาพมีค่าเฉลี่ย  2.94  ด้านการบริหารจัดการ  2.93  ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน  2.90  ปัญหาของการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนคือการไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม  เวลาส่วนมากจะใช้ในการประกอบอาชีพและประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้  ความเข้าใจ  และขาดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม  ไม่กล้าคิด  กล้าทำ  ไม่มีความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการชุมชนและคิดว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้

                 3.  แนวทางในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการชุมชนในการพัฒนาเทศบาลตำบลกมลาไสยได้มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาไว้  คือ 1)  เทศบาลตำบลกมลาไสยควรพัฒนาและส่งเสริมให้คณะกรรมการชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบกลยุทธ์และวิธีการที่จะโน้มน้าวให้คณะกรรมการชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด  2) หาแนวทางร่วมกันที่จะนำนโยบายของเทศบาลไปปฏิบัติกับชุมชนทั้ง 12 ชุมชน  3) พัฒนาส่งเสริมกระบวนการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมในบทบาทและสิทธิของประชาชน  เปิดให้มีการอบรม สัมมนา ทัศนะศึกษาดูงาน เพื่อเปิดโลกทัศน์  วิสัยทัศน์ให้รับรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา  4) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของเทศบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเสียงตามสายให้ครอบคลุมชัดเจนทุกพื้นที่ในเขตเทศบาล

Article Details

Section
บทความวิจัย