แนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียน กรณีศึกษา วิทยาลัยการอาชีพลอง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการจำเป็น หาแนวทางการพัฒนาและประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียน กรณีศึกษาวิทยาลัยการอาชีพลอง กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยการอาชีพลอง รวม 196 คน ระยะที่ 2 ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ศึกษานิเทศก์ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนนักศึกษา รวม 12 คน และระยะที่ 3 ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการสถานศึกษา และครู รวม 53 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัจจุบันสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนวิทยาลัยการอาชีพลอง ภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับปานกลาง ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านสังคม รองลงมา คือ ด้านกายภาพ และด้านจิตวิทยา ตามลำดับ ส่วนความต้องการจำเป็น ภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านกายภาพ รองลงมา คือ ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม ตามลำดับ
2. แนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนวิทยาลัยการอาชีพลอง ทั้ง 3 ด้าน คือ 1) ด้านกายภาพ วิทยาลัยปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในห้องเรียนใหม่ ระดมทรัพยากรเพื่อนำมาใช้มาพัฒนาสนามกีฬาและพื้นที่นันทนาการให้ใช้งานได้ปกติ จัดสวนหย่อมให้มีความร่มรื่น มีที่นั่งเพียงพอ และมีแหล่งน้ำดื่มไว้ให้บริการ สร้างศาลาหรือมุมนั่งเล่นเพิ่มขึ้นในบริเวณรอบ ๆ และอาคารต่าง ๆ 2) ด้านจิตวิทยา วิทยาลัยเพิ่มจำนวนของถังขยะตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วบริเวณวิทยาลัย กำหนดมาตรการทิ้งขยะ จัดทำโครงการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัยต่อนักเรียนนักศึกษา จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูนำแหล่งเรียนรู้มาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และ 3) ด้านสังคม วิทยาลัยจัดประชุมผู้ปกครองโดยมีการแบ่งแต่ละระดับชั้นแต่ละสาขาวิชาให้ครูที่ปรึกษา นักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครองได้พบปะพูดคุยกันเพื่อเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มอบหมายให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้จัดกิจกรรมด้วยตนเอง ให้นักเรียนนักศึกษาร่วมแสดงความคิดเห็นรูปแบบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ครูจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เน้นแบบโครงงานเป็นฐาน
3. ความเหมาะสมของแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนวิทยาลัยการอาชีพลอง ภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับดีมาก ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านสังคม รองลงมา คือ ด้านจิตวิทยา และด้านกายภาพ ตามลำดับ ส่วนความเป็นไปได้ ภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับดี ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านจิตวิทยา รองลงมา คือ ด้านสังคม และกายภาพ ตามลำดับ
จากผลการวิจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยได้นำแนวทางแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนวิทยาลัยการอาชีพลองที่มีความเป็นไปได้ นำเสนอต่อฝ่ายงานแผนและความร่วมมือเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของวิทยาลัยการอาชีพลองในปีการศึกษาถัดไป
Article Details
References
กระทรวงศึกษาธิการ. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสยามสปอรต์ ซินดิเคท จำกัด.
จิตตานันท์ สุพรมอินทร์. (2559). การพัฒนาแนวทางการจัดการสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 19. วารสารบัณฑิตศึกษา. 14 (4), 91–100.
จิราพร เครือแวงมน. (2562).การพัฒนาแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ภายในสำหรับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 24. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
บุญชม ศรีสะอาด. (2545). การวิจัยเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพมหานคร: สุวิริยาสาสน์.
ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ. (2563).รายงานการประเมินตนเอง ปีการศึกษา 2562 วิทยาลัยการอาชีพลอง. แพร่ : วิทยาลัยการอาชีพลอง.
ศราวุธ บุญปลอด. (2562). การพัฒนาแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในสถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 22 จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา. คณะครุศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยนครพนม.
ศิวานนท์ วงษ์พล. (2560). การศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งคา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยบูรพา.
อรชีรา อนุบุตร. (2561). แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดนครสวรรค์. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา. คณะครุศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.