ผลของการฝึกโปรแกรมปฏิกิริยาตอบสนองที่มีผลต่อความเร็วและความคล่องแคล่วว่องไว ของนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงมหาวิทยาลัยศิลปากร

Main Article Content

Narinthra Chanatsorn
ชลลดา พันธ์หวยพงษ์
ศิวะรักษ์ พวงทอง
โรม วงศ์ประเสิร์ฐ

บทคัดย่อ

วิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองที่มีผลต่อความเร็วและความคล่องแคล่วว่องไวของนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการวิจัยเชิงทดลอง กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักกีฬาบาสเกตบอลหญิง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ปีการศึกษา 2564 โดยใช้การเลือกเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 18 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้โปรแกรมการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองที่มีผลต่อความเร็วและความคล่องแคล่วว่องไว วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวเมื่อมีการวัดซ้ำ (One-Way ANOVA with Repeated Measure) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยวิธีของ บอนเฟอโรนี (Bonferroni’s Method) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


  1. ผลการทดสอบความเร็วจากแบบทดสอบความเร็วในการวิ่ง ก่อนการฝึก หลังการฝึกสัปดาห์ที่ 4 และหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 มีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.97±0.59, 3.77±0.45, 3.45±0.20 วินาที ตามลำดับ และผลการเปรียบเทียบความเร็ว พบว่า หลังการฝึกด้วยโปรแกรมการฝึกปฏิกิริยาตอบสนอง 8 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าก่อนการฝึก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

  2. ผลการทดสอบความความคล่องแคล่วว่องไวจากแบบทดสอบความคล่องแคล่วว่องไว T-Test ก่อนการฝึก หลังการฝึกสัปดาห์ที่ 4 และหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 มีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 13.29±1.23, 11.67±1.23, 10.83±0.39 วินาที ตามลำดับ และผลการเปรียบเทียบความคล่องแคล่วว่องไวพบว่า หลังการฝึกด้วยโปรแกรมการฝึกปฏิกิริยาตอบสนอง 8 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าก่อนการฝึก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

สรุปได้ว่า การฝึกปฏิกิริยาตอบสนองมีผลต่อความเร็วและความคล่องแคล่วว่องไวในนักกีฬาบาสเกตบอลหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการฝึกตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยท่าทางในการฝึกต้องมีความสอดคล้องการกับเคลื่อนไหวของชนิดกีฬานั้น ๆ  เพื่อทำให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวที่เฉพาะเจาะจง และนำไปใช้ในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองต้องฝึกในขณะที่ร่างกายมีความแข็งแรงเป็นพื้นฐานและความพร้อมของร่างกาย ไม่มีอาการเมื่อยล้าจะทำให้ร่างกายสามารถฝึกได้อย่างเต็มที่และก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Articles)