สภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม และ 2) เปรียบเทียบสภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม จำแนกตามขนาดของสถานศึกษา ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร และครู ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม จำนวน 1,547 คน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 310 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ 0.98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และใช้วิธีการเปรียบเทียบพหุคูณแบบ LSD
ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านทรัพยากรการเรียนรู้ และด้านความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน 2) สภาพการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม ที่มีขนาดต่างกัน มีการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในภาพรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อใช้วิธีการเปรียบเทียบพหุคูณแบบ LSD พบว่า สถานศึกษาขนาดใหญ่มีการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากกว่าสถานศึกษาขนาดเล็ก และขนาดกลาง ขณะที่สถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
มีการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนน้อยกว่าสถานศึกษาขนาดใหญ่
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
เนื้อหาของแต่ละบทความเป็นทัศนะของผู้เขียน ซึ่งที่ปรึกษา บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และคณะกรรมการบริหารวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใดๆ