บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาบทความทุกเรื่องที่ขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์วิจัย โดยพิจารณาเนื้อหาและควบคุมคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินก่อนการตีพิมพ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสารนี้
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบการคัดลอกผลงานในบทความ หากตรวจสอบพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นหรือมีความซ้ำซ้อนของผลงานเกินเกณฑ์มาตรฐานที่วารสารกำหนด บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนบทความเพื่อขอคำชี้แจง ประกอบการพิจารณา “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น
  3. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติ
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนบทความ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำบทความไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  5. บรรณาธิการต้องไม่เปลี่ยนแปลงผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่แทรกแซงข้อมูลระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียนบทความ
  6. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนของวารสาร รักษามาตรฐานของวารสาร และพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและทันสมัยเสมอ

 บทบาทหน้าของผู้เขียนบทความ

  1. บทความที่ขอตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์วิจัยต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ไม่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ที่อื่น และไม่ส่งบทความไปขอตีพิมพ์เผยแพร่ที่อื่นในระหว่างรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์วิจัย รวมถึงเมื่อได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์บทความในวารสารสังคมศาสตร์วิจัยแล้ว ผู้เขียนบทความต้องไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์ที่อื่นโดยเด็ดขาด
  2. ผู้เขียนบทความต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่น รวมถึงรูปภาพและตารางมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง เพื่อไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้หากมีการฟ้องร้องใด ๆ เกิดขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเท่านั้น ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบแต่อย่างใด
  3. ผู้เขียนบทความควรตรวจสอบผลงานของตนเองให้มีการดำเนินการตามหลักจริยธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  4. ชื่อผู้เขียนบทความที่ปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนั้น ๆ จริง

บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องพิจารณาบทความ โดยคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นสำคัญ ภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ ปราศจากอคติ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนบทความ
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  3. หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินมีการคัดลอกผลงานอื่น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
  4. 4. ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้