About the Journal
Journal History
วารสารวิชาการนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม นิด้า จัดทำโดย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งยังนับว่าเป็นคณะใหม่ที่เพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนมาในสาขานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
23 พฤษภาคม 2555 เป็นวันที่สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้ง คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการขึ้นเป็นคณะ จากความมุ่งมั่นและการผลักดันของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีในขณะนั้น นับว่าท่านคือผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ฯเป็นคนแรก เนื่องจากท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของศาสตร์ทางด้านนิเทศศาสตร์ที่จะมีต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ท่านจึงได้ระดมรวบรวมคณาจารย์และนักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จิตราภรณ์ สุทธิวรเศษฐ์ คณบดี(คนแรก) รองศาสตราจารย์อุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์ ศาสตราจารย์พัชนี เชยจรรยา รองศาสตราจารย์ ดร. ประทุม ฤกษ์กลาง รองศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว และลูกศิษย์ที่กระจายกันอยู่ตามมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งของรัฐและเอกชน พร้อมทั้งลูกศิษย์ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศ มาจัดทำหลักสูตร และเริ่มเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ( มกราคม 2556)
จากวันนั้นถึงวันนี้ เมื่อคณะเริ่มมีมหาบัณฑิตที่จะสำเร็จการศึกษา มีคณาจารย์หลายท่านที่ผลิตผลงานทางวิชาการที่พร้อมจะเผยแพร่ คณะจึงคิดว่าถึงเวลาและมีความพร้อมที่จะจัดทำวารสารทางวิชาการของคณะออกเผยแพร่ โดยใช้รูปแบบของTCI มีการกลั่นกรอง และตรวจสอบคุณภาพของบทความ จากนักวิชาการในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและจากภายในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เอง
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นแหล่งในการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม
- เพื่อเป็นแหล่งในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์บุคลากร และนักศึกษา
Publication Frequency
กำหนดเผยแพร่ 2 เล่ม ต่อปี
ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน
ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม
หลักเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองบทความ
- บทความที่จะได้รับการตีพิมพ์ ต้องไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนและต้องไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด
- บทความที่จะได้รับการตีพิมพ์ ต้องเป็นบทความที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพทางวิชาการ และมีประโยชน์ในเชิงทฤษฎีหรือเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติอย่างต่ำตามเกณฑ์มาตรฐาน คือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ทำงานวิจัยและมีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จำนวนอย่างน้อย 2 ท่านขึ้นไปต่อบทความ
- กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจแก้ไขรูปแบบบทความที่ส่งมาตีพิมพ์
- การยอมรับเรื่องที่จะตีพิมพ์เป็นสิทธิ์ของกองบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการจะไม่รับผิดชอบในเนื้อหาหรือความถูกต้องของเรื่องที่ส่งมาตีพิมพ์ทุกเรื่อง
คำแนะนำสำหรับผู้เขียน
วารสารนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม นิด้า เป็นวารสารที่นำเสนอบทความงานวิจัยและบทความทางวิชาการทุกลักษณะ ขอบข่ายครอบคลุมงานวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ นวัตกรรม และการสื่อสาร
ลักษณะของบทความที่จะรับ
- บทความงานวิจัยและบทความทางวิชาการในสาขานิเทศศาสตร์ นวัตกรรม และการสื่อสาร ที่ส่งมาต้องไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
- ต้นฉบับงานจะเขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ โดยต้องมีบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกบทความ
ประเภทของบทความที่จะรับ
- บทความวิชาการ (Article)
- สารนิพนธ์ต้นฉบับหรือบทความวิจัย (Research Article)
- บทความปริทัศน์ (Review Article)
- วิจารณ์หนังสือ (Book Review)
- จดหมายถึงบรรณาธิการ (Letter to the Editor) เพื่อแสดงความคิดเห็นสนับสนุนหรือโต้แย้งความเห็นของนักวิจัยอื่นๆ ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจ
รูปแบบการเขียนบทความ
- บทความต้องมีความยาวจำนวน 15-20 หน้า กระดาษ A4
- รูปแบบตัวอักษร Cordia New
- ชื่อเรื่อง และหัวข้อ ใช้อักษร ขนาด 17 พอยท์ ตัวหนา และจัดให้อยู่กึ่งกลาง
- ชื่อผู้เขียน ใช้อักษรขนาด 15 พอยท์ ตัวเอียง และจัดให้อยู่ชิดขวา
- เนื้อหา ใช้อักษร ขนาด 15 พอยท์
- การกั้นขอบกระดาษ ด้านบน 1 นิ้ว ด้านล่าง 1 นิ้ว ด้านซ้าย 1.5 นิ้ว ด้านขวา 1.5 นิ้ว
- การอ้างอิงในเนื้อความ ใช้ระบบ APA Style
- บรรณานุกรม แยกเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (เรียงตามลำดับตัวอักษร) ใช้ตามแบบที่วารสารนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม นิด้า กำหนด
ส่วนประกอบของบทความ มีดังนี้
บทความวิจัย
ก. หน้าแรก บทคัดย่อ (Abstract) ภาษาไทย 1 หน้า และภาษาอังกฤษ 1 หน้า ประกอบด้วย
- ชื่อบทความ (Title)
- ชื่อผู้เขียนทุกคน (Authors) ให้ระบุเฉพาะชื่อและนามสกุล โดยไม่ต้องมีคำนำหน้านาม
- ให้เขียนตำแหน่งทางวิชาการ และที่อยู่สำหรับการติดต่อทางไปรษณีย์ของผู้เขียนทุกคนในเชิงอรรถด้านล่างกระดาษ
- ให้เขียนเครื่องหมาย* ไว้บนชื่อบทความเพื่อระบุแหล่งทุนที่ได้รับการอุดหนุนไว้ในเชิงอรรถและให้เขียนเครื่องหมาย** ไว้หลังนามสกุลเพื่อระบุตำแหน่งทางวิชาการ สังกัด ภาควิชา คณะ มหาวิทยาลัย ไว้ในเชิงอรรถ
- บทคัดย่อ (Abstract) ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ความยาวไม่เกิน 200 คำ
บทคัดย่อบทความวิจัย ขอให้เขียนบทคัดย่อแยกเป็น 3 ย่อหน้า ย่อหน้าแรกให้ระบุวัตถุประสงค์ของงานวิจัย สมมติฐาน ประโยชน์ที่จะได้รับ ย่อหน้าที่ 2 ให้อธิบายวิธีวิจัย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้ ย่อหน้าที่ 3 สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ (ถ้ามี)
บทคัดย่อบทความวิชาการ ให้เขียนสรุปประเด็นสำคัญของบทความพร้อมทั้งตรวจสอบบทคัดย่อภาษาอังกฤษให้ถูกต้องก่อนส่งบทความ
- คำสำคัญ (Keywords) ความยาวไม่เกิน 3-5 คำ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- ผู้นิพนธ์ประสานงาน (Corresponding author) ให้ทำเครื่องหมายไว้บนนามสกุลและระบุตำแหน่งทางวิชาการ สังกัด ภาควิชา คณะ มหาวิทยาลัย ไว้ในเชิงอรรถ
ข.ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย
- บทนำ (Introduction)
- วัตถุประสงค์ (Objective)
- วิธีการทดลอง (Materials and Methods) หรือ วิธีการศึกษา (Research Methodology) เป็นการอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยแต่ละประเภท
- ผลการทดลองและวิจารณ์ผลหรือผลการศึกษาและอภิปรายผล (Results and Discussion)
- สรุป (Conclusion)
- กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements) เป็นการระบุแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย
- บรรณานุกรมใช้รูปแบบ APA Style โดยอ้างอิงวิธีการเขียนจาก the Publication Manual of the American Psychological Association (7th edition)
วิธีการส่งบทความ
ผู้เสนอบทความส่งบทความทางระบบได้ที่ www.gscm.nida.ac.th/th/journal.php ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-727-3764 หรือ gscm@nida.ac.th
กองบรรณาธิการจะไม่รับผิดชอบในทัศนะ ข้อคิดเห็นใดๆ ที่ปรากฎในข้อเขียนต่างๆ ของวารสาร เพราะถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่าน มิใช่ความคิดเห็นหรือความรับผิดชอบของคณะผู้จัดทำประการใด