Publication Ethics

มาตรฐานทางจริยธรรมของการตีพิมพ์

วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปรับปรุงจาก  COPE – COMMITTEE ON PUBLICATION ETHICS

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

บรรณาธิการควรรับผิดชอบทุกสิ่งที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร

  • ดำเนินการให้ตรงตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  • รับรองคุณภาพของผลงาน (รวมงานทุกประเภทที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฯ ได้แก่ บทความวิจัย บทความวิชาการ บทความรับเชิญ ผลงานแปล บทวิจารณ์หนังสือ)
  • ดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องทางวิชาการของผลงาน
  • สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้นิพนธ์
  • ปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ
  • แก้ไขข้อผิดพลาดในการตีพิมพ์  การถอด-ถอนผลงาน และการขออภัย หากจำเป็น
  • ปรับปรุงวารสารอย่างสม่ำเสมอ

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้อ่าน

  • ควรแจ้งให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ให้ทุนสนับสนุนผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์

 หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้นิพนธ์

  • บรรณาธิการควรดำเนินการทุกอย่างเพื่อดำรงไว้ซึ่งคุณภาพของผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์
  • การตัดสินใจของบรรณาธิการในการยอมรับหรือปฏิเสธผลงานเพื่อการตีพิมพ์ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ  ความใหม่  ความชัดเจนของผลงาน  และตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสาร
  • บรรณาธิการสามารถชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (peer review)  และมีความพร้อมในการชี้แจงความเบี่ยงเบนต่างๆ จากกระบวนการตรวจสอบที่ได้ระบุไว้
  • บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์ทุกประเด็นที่บรรณาธิการคาดหวังจากผลงาน  และในทุกเรื่องที่ผู้นิพนธ์ควรรับทราบ  และควรมีการปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งการอ้างอิงหรือการเชื่อมโยงกับระเบียบดังกล่าว
  • บรรณาธิการไม่ควรเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการตอบรับผลงานที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว  ยกเว้นมีปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรับ-ส่งผลงานนั้นมาให้วารสารพิจารณา
  • วารสารควรมีช่องทางให้ผู้นิพนธ์อุทธรณ์ได้ หากผู้นิพนธ์มีความคิดเห็นแตกต่างจากการตัดสินใจของบรรณาธิการ

หน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้ประเมินบทความ

  • บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำแก่ผู้ประเมินบทความในทุกประเด็นที่บรรณาธิการคาดหวัง  และควรมีการปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งควรมีการอ้างอิงหรือการเชื่อมโยงกับระเบียบดังกล่าวนี้ด้วย
  • บรรณาธิการควรมีระบบที่ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมินบทความ 

กระบวนการพิจารณาประเมินบทความ

  • บรรณาธิการควรมีระบบที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผลงานที่ส่งเข้ามายังวารสาร จะได้รับการปกปิดเป็นความลับในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาประเมิน

การร้องเรียน

  • บรรณาธิการควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ปรากฎในผังการทำงานที่กำหนดโดยกองบรรณาธิการวารสาร
  • บรรณาธิการควรมีการตอบกลับคำร้องเรียนในทันที และควรแสดงให้ผู้ร้องเรียนมั่นใจได้ว่าสามารถร้องเรียนได้อีกหากยังไม่พอใจ ซึ่งกลไกดังกล่าวนี้ควรปรากฎชัดเจนในวารสาร

การสนับสนุนการอภิปราย

  • ควรเปิดโอกาสให้ผู้นิพนธ์สามารถชี้แจงความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกับผู้ประเมินบทความ  
  • รายงานผลด้านลบที่มาจากการศึกษาหรือการวิจัยได้  

สนับสนุนความถูกต้องทางวิชาการ

  • บรรณาธิการควรยึดหลักจริยธรรมสากลในการพิจารณารายละเอียดของผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์   
  • บรรณาธิการควรมีหลักฐานที่แสดงว่าผลงานที่จะตีพิมพ์นั้นได้รับความเห็นชอบโดยกองบรรณาธิการ หรือ ถ้าเป็นบทความวิจัย ควรได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนฯ ชุดที่ 2 (IRB 2) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือของหน่วยงานต้นสังกัดของผู้นิพนธ์

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

  • บรรณาธิการควรปกป้องรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นิพนธ์กับผู้ให้ข้อมูล ดังนั้นบรรณาธิการจึงควรแจ้งผู้นิพนธ์ให้ขอหนังสือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้ข้อมูลที่ปรากฏในผลงาน อย่างไรก็ตามบรรณาธิการสามารถตีพิมพ์บทความได้โดยไม่ต้องมีเอกสารยินยอมหากบทความนั้นมีความสำคัญต่อสังคมในวงกว้าง หรือมีความยากลำบากในการได้มาซึ่งเอกสารยินยอม และบุคคลผู้นั้นไม่คัดค้านต่อการตีพิมพ์เผยแพร่

การติดตามความประพฤติมิชอบ

  • บรรณาธิการไม่ควรปฏิเสธผลงานที่อาจจะมีประเด็นมิชอบในทันทีทันใด แต่ควรติดตามหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลงานดังกล่าวเพื่อความโปร่งใสก่อนการตีพิมพ์
  • บรรณาธิการควรแสวงหาคำตอบจากบุคคลผู้ถูกกล่าวหาก่อน แต่หากไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจก็ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการสอบถามหัวหน้าหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • บรรณาธิการควรทำให้เกิดความมั่นใจว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเหตุและผล ปราศจากอคติ ความลำเอียงใด ๆ

การรับรองความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ

  • เมื่อบรรณาธิการพบว่าบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ไปแล้วมีปัญหาที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือเป็นรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง จำเป็นต้องแก้ไขทันที
  • หากบรรณาธิการพบว่ามีการประพฤติทุจริตภายหลังการดำเนินการตรวจสอบแล้ว ต้องดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นด้วยความชัดเจนที่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้การเพิกถอนนี้ต้องให้ผู้อ่านและระบบฐานข้อมูลอื่นที่อยู่ในสายงานวิชาการประเภทเดียวกันทราบด้วย

ความสัมพันธ์กับเจ้าของวารสาร

  • บรรณาธิการควรมีอิสระในการตัดสินใจรับผลงานเพื่อตีพิมพ์โดยพิจารณาคุณภาพและความเหมาะสมกับผู้อ่านเป็นหลัก มากกว่าการรับคำสั่งการตีพิมพ์จากเจ้าของวารสารซึ่งอาจหวังผลประโยชน์อื่นจากผลงานนั้น

ประเด็นพิจารณาการตีพิมพ์ซ้ำ

  • ในการนำผลงานเดิมมาตีพิมพ์ใหม่ต้องให้คงลักษณะเดิมทุกประการ รวมทั้งถ้ามีการปรับปรุงเพิ่มเติมแก้ไข  ผู้นิพนธ์ต้องระบุไว้ในเชิงอรรถว่าเคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

ผลประโยชน์ทับซ้อน

  • บรรณาธิการควรมีระบบในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนของบรรณาธิการ  เจ้าหน้าที่วารสาร  ผู้นิพนธ์  ผู้ประเมิน และสมาชิกกองบรรณาธิการ

กระบวนการจัดการกับข้อร้องเรียนและการอุทธรณ์ที่มีต่อบรรณาธิการ

  • ข้อร้องเรียนของ ผู้นิพนธ์ ผู้อ่าน ผู้ประเมิน อาจมีการส่งมาให้บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ หรือคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อบรรณาธิการวารสารโดยตรงก่อนในขั้นแรก
  • หากข้อร้องเรียนไม่ได้รับการแก้ไขเป็นที่น่าพอใจ ก็สามารถยื่นข้อร้องเรียนนั้นต่อกองบรรณาธิการในขั้นตอนถัดไป
  • หากข้อร้องเรียนต่อกองบรรณาธิการยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นที่น่าพอใจ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของบรรณาธิการได้ในขั้นตอนสุดท้าย
  • กองบรรณาธิการและคณะกรรมการดำเนินงานฯ จะไม่พิจารณาการร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาของการตัดสินตีพิมพ์ผลงานของบรรณาธิการ แต่จะพิจารณากระบวนการ หรือข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาในบทบรรณาธิการเท่านั้น
  • การตัดสินการอุทธรณ์โดยคณะคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นเด็ดขาด
  • กองบรรณาธิการและคณะกรรมการดำเนินงานฯ จะไม่พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการเผยแพร่เอกสารมาตรฐานทางจริยธรรมนี้

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ 

  • ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ถ้าผู้นิพนธ์ส่งบทความให้วารสารอื่นพิจารณาด้วยในขณะเดียวกัน นิพนธ์ต้องยกเลิกการส่งบทความให้วารสารอื่นทันที เมื่อวารสารพุทธศาสน์ศึกษา ส่งหนังสือรับรองการตีพิมพ์ให้ผู้นิพนธ์
  • ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในผลงานของตน (ตามข้อแนะนำของวารสารพุทธศาสน์ศึกษาในการส่งบทความเพื่อตีพิมพ์)
  • หากผลงานของผู้นิพนธ์เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลโดยใช้คนเป็นผู้ให้ข้อมูล หรือใช้สัตว์ในการทดลอง ผู้นิพนธ์ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ดำเนินการตามหลักจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องได้รับความยินยอมก่อนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกครั้ง
  • ผู้นิพนธ์ต้องเปิดเผยแหล่งทุนสนับสนุนการผลิตผลงานทางวิชาการ (ถ้ามี)
  • ผู้นิพนธ์พึงตระหนักว่าลิขสิทธิ์ของผลงานที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพุทธศาสน์ศึกษา และไม่นำผลงานไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์กับแหล่งอื่นๆ หลังจากที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฯแล้ว
  • ชื่อผู้นิพนธ์ที่ปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนี้จริง

 บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ 

  • ผู้ทรงคุณวุฒิต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
  • ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  • หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินเป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบตามแบบประเมินผลงานของวารสารฯ
  • ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด
  • ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผลงานให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้