ความสำคัญของเรื่องเล่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย พ.ศ. 2551 – 2558

Main Article Content

วิราวรรณ สมพงษ์เจริญ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาเรื่องเล่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยและ (2) ศึกษาความสำคัญของเรื่องเล่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย วิธีการศึกษา คือ การใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาเรื่องเล่าที่มีเนื้อหากล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2551–2558 จำนวน 18 เรื่อง


ผลการศึกษา พบว่า


1) เรื่องเล่าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีสามรูปแบบ กล่าวคือ แบบแรก การอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ แบบที่สอง การสร้างเรื่องเล่าใหม่จากการอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และแบบที่สาม การสร้างเหตุการณ์ประกอบเรื่องเล่าใหม่จากการอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์


2) ความสำคัญเรื่องเล่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย พ.ศ. 2551-2558 กล่าวคือ เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นกลายมาเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฎในงานเขียนทางประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีในช่วงเวลาต่อมา เรื่องเล่าเหล่านี้มีลักษณะแบ่งออกเป็นสามประการ


ประการแรก การให้ความสำคัญของเรื่องเล่าในฐานะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เดิมเรื่องเล่าเกิดจากการสร้างเรื่องราวใหม่ซึ่งอาจมีหรือไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานในเชิงประจักษ์ ต่อมาเรื่องเล่าดังกล่าวผ่านการผลิตซ้ำในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ เรื่องเล่านั้นจะกลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่รับรู้โดยทั่วถึงกัน ดังกรณีเรื่องเล่าการทำนายของซินแสว่าพระเจ้าตากสินและเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะได้เป็นกษัตริย์ทั้งคู่ เรื่องเล่าของนายทองดี ฟันขาว หรือ พระยาพิชัยดาบหัก ทหารคนสนิทผู้ซื่อสัตย์ถึงขนาดยอมตายไปพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรื่องเล่าของพระราชโอรส พระเจ้าตากสินเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ประการที่สอง การให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อเป็นการเสริมสร้างสถานภาพทางสังคมในฐานะวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราช เป็นการสร้างเรื่องเล่าประกอบเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระบิดาบุญธรรม พระมารดา ชาติกำเนิด บุญญาธิการและความสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นหลัก เช่น เรื่องเล่างูเหลือมเลื้อยมาขดรอบกระดงที่ทารกสิน เรื่องเล่า พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรื่องเล่าพระเจ้าตากสินสามารถเรียกฝนได้ เป็นต้น


ประการที่สาม การให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าใหม่ที่มีการอธิบายเรื่องราวหรือเหตุการณ์ อันมีจุดเชื่อมโยงกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรื่องเล่านี้จึงกลายเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ การเติมเต็มเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระเจ้าตากสินให้สมบูรณ์มากขึ้น เช่น เรื่องเล่ารูปถ่ายพระเจ้าตาก เรื่องเล่าพระที่นั่งแท่นไม้มะเดื่อภัทรบิฏ เรื่องเล่าการใช้แผนแกล้งบ้าของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จุติ จันทร์คณา. (2554). อาถรรพ์ขวัญผวา. กรงเทพ : income.

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2551). โอรสลับพระเจ้าตาก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ: สร้างสรรค์บุ๊คส์.

ดวงธิดา ราเมศวร์. (2558). 5 ผู้พิชิตผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์. กรุงเทพ: แพรธรรม.

ทิพยจักร. ญาณพระอริยะ : ไขปริศนาพระเจ้าตาก. (2555). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: กรีน ปัญญาญาณ.

ธรรมนิตย์ ชำนาญ. (2552). นักรบกู้แผ่นดิน ตากสินมหาราช. กรุงเทพ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2557). พระเจ้าตากเบื้องต้น. กรุงเทพ: มติชน.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2555). ปริศนาพระเจ้าตาก. กรุงเทพ : มติชน.

พระที่นั่งแท่นไม้มะเดื่อภัทรบิฏ (ออนไลน์ ) สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_197843

ลดา รุธิรกนก. (2557). บันทึกจอมทัพ พระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ: ดีเอ็มจี.

ลำจุล ฮวบเจริญ. (2554). เกร็ดพงศาวดารกรุงธนบุรี. กรุงเทพ: ดวงกมลพับลิซซิ่ง.

ว.วรรณพงษ์. (2556). ความจริงชวนตะลึง ที่อาจพลิกประวัติศาสตร์ การสวรรคต “พระเจ้าตากสิน”.กรุงเทพ: หัวกะทิ.

วศิน ปัญญาวุธตระกูล. (2558). ๗ ตำนานสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : ดีเอ็มจี.

วีระ อำพันสุข. (2556). 60 แห่งความเป็นมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ: ม.ป.พ.

สม สุจิรา. (2554). ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ: อมรินทร์ธรรมะ.

สหัสชัย มหาวีระ. (2553). สวมรอยบาทมหาราช “เจ้ากรุงธน”. กรุงเทพ: บริษัท สุพีเรียพรินติ้งเฮาส์ จำกัด.

เสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ. (2555). พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ:

สยามอภิวัฒน์.

อาณัติ อนันตนาค. (2558). สองมหาราชกู้แผ่นดิน. กรุงเทพ: ยิปซี กรุ๊ป.

อานนท์ จิตรประภาส. (2552). ๗ มหาราชชาติสยาม พระราชประวัติของยอดพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ. กรุงเทพ: ยิปซี กรุ๊ป.