แนวทางการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Main Article Content

กัญญกานต์ ดำมุณี

บทคัดย่อ

           การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินงานด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงปัญหา อุปสรรคและศึกษาแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสืบสวนอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสอบสวน จำนวน 5 ราย และฝ่ายสืบสวน จำนวน 5 ราย และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสิ้นจำนวน 15 ราย 
           ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้ การก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ ผู้ก่อความไม่สงบมักวางแผนการปฏิบัติงานแบบเป็นกลุ่มและเป็นระบบ โดยมุ่งหวังผลในการก่อเหตุ คือ เพื่อข่มขวัญและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ดังนั้นการตรวจสถานที่เกิดเหตุจึงต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ช่วงเวลาการเข้าตรวจ นอกจากนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดร่วมตรวจสอบความปลอดภัยด้วยทุกครั้งที่เกิดเหตุระเบิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแต่ละครั้งจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเป็นจำนวนมากเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ลงมาปฏิบัติงานส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์การทำงาน นอกจากนี้ยังขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ยานพาหนะสำหรับการเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุมีน้อยไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ควรมีการอบรมเจ้าหน้าที่ในเรื่องหลักการเก็บพยานวัตถุในสถานที่เกิดเหตุ และเพิ่มกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น รวมไปถึงการเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมาเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ อีกทั้งควรมีการจัดเก็บฐานข้อมูลอาชญากรรมและพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ลดความเสี่ยงในการทำงาน

Article Details

บท
บทความวิทยานิพนธ์

References

1. พัชรา สินลอยมา. (2556). โครงการการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการสืบสวนอาชญากรรมในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

2. วิรัตน์ คำศรีจันทร์. (2554). Snowball Sampling Technique การเรียนรู้และเข้าถึงชุมชนด้วยการอ้างอิงต่อเนื่องปากต่อปากในวิจัยแบบ PAR. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/428764.

3. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. (2558). สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2557: ปีที่มีจำนวนเหตุการณ์น้อยที่สุดในรอบ 11 ปี. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.deepsouthwatch.org/node/7942.