การศึกษารอยลายนิ้วมือแฝงจากคราบเลือดบนกระดาษต่างชนิดโดยวิธีไอโอดีนและนินไฮดริน

Main Article Content

เบญจศิลป์ เหล่าวงษี

บทคัดย่อ

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษารอยลายนิ้วมือแฝงจากคราบเลือดบนกระดาษต่างชนิดโดยวิธีไอโอดีนและวิธีนินไฮดริน และ 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิธีการตรวจเก็บรอยลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษที่ต่างกันกับความเข้มข้นของเลือดที่แตกต่าง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงทดลองโดยใช้กระดาษตัวอย่าง จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสารสีขาว กระดาษถนอมสายตากระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษกล่องลัง ใบตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาล ปกนิตยสาร บิลเงินสด ซองจดหมาย ใบเสร็จร้านสะดวกซื้อ และซองใส่เอกสารสีน้ำตาล ทำการประทับนิ้วหัวแม่มือด้านขวาลงบนกระดาษ จากนั้นหยดเลือดลงบนกระดาษตัวอย่างที่เตรียมไว้ ในความเข้มข้นที่แตกต่างกันคือ 1:5 1:10 และ1:100 หลังจากนั้น นำกระดาษตัวอย่างที่ได้ทำการหารอยลายนิ้วมือแฝงด้วยวิธีไอโอดีนและวิธีนินไฮดริน พร้อมถ่ายรูปรอยลายนิ้วมือที่ปรากฏขึ้น หลังจากนั้นนำภาพถ่ายรอยลายนิ้วมือมาทำการนับจำนวนจุดลักษณะสำคัญพิเศษ หรือจุดตำหนิ (Minutiae) ด้วยระบบ Automated Fingerprint Identification System (AFIS) ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และอาศัยหลักเกณฑ์การนับจุดตำแหน่งพิเศษ โดยกำหนดให้เกณฑ์รอยลายนิ้วมือที่ปรากฏขึ้นบนกระดาษโดยนับจุดลักษณะสำคัญพิเศษ หรือจุดตำหนิ 10 จุดนี้ขึ้นไป โดยได้ทำการอ้างอิงข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านลายนิ้วมือ กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลางใช้ในการตรวจพิสูจน์ ผลการวิจัย พบว่า 1) รอยลายนิ้วมือแฝงจากคราบเลือดที่ปรากฏขึ้นบนกระดาษทั้ง 10 ชนิด หลังจากการทดสอบด้วยวิธีไอโอดีนมีประสิทธิภาพความคมชัด และสามารถอ่านจุดลักษณะสำคัญพิเศษ หรือจุดตำหนิ (Minutiae) ได้มากกว่าวิธีนินไฮดริน 2) จากการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมทางสถิติแบบ Paired - Sample T test พบว่า วิธีการตรวจเก็บรอยลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษที่แตกต่างกันบนคราบเลือด และความเข้มข้นเลือดแตกต่างกันในอัตราส่วน 1:5 1:10 และ 1:100 มีการปรากฏของรอยลายนิ้วมือแฝงแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ดังนั้น กระดาษที่เหมาะสมในการตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิวที่มีรูพรุน เนื้อกระดาษ ที่มีความบาง รวมทั้งน้ำหนักของกระดาษที่มีความเบา จะให้ประสิทธิภาพการปรากฏขึ้นของรอยลายนิ้วมือแฝงได้ง่าย ข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัย ทำให้ทราบว่า วิธีการรมไอโอดีนให้ผลที่ดีในการตรวจเก็บรอยลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษที่มีคราบเลือด แต่เมื่อทิ้งระยะเวลาของรอยลายนิ้วมือที่ปรากฏไว้ ลายนิ้วมือจะจางหายไปและการสูดไอของไอโอดีนเล็กน้อยไม่มีอันตราย แต่การสูดไอโอดีนเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังระบบทางเดินหายใจ เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และวิธีนินไฮดรินไม่เหมาะแก่การทดลองกับกระดาษที่มีคราบเลือด ข้อเสนอแนะควรศึกษาระยะเวลาการคงอยู่ของรอยลายนิ้วมือแฝงจากคราบเลือดในแต่ละช่วงเวลาและศึกษาความคงทนของรอยลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษชนิดอื่น เช่น กระดาษรูป หรือพลาสติกชนิดอื่น เช่น ขวดน้ำ ถุงพลาสติก รวมทั้งศึกษาการหาสารเคมีที่จะมาช่วยยืดอายุของการปรากฏของรอยลายนิ้วมือแฝง

Article Details

บท
บทความวิทยานิพนธ์

References

1. กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. (2538). การตรวจเก็บลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุ.เอกสารประกอบการอบรมการตรวจเก็บลายนิ้วมือในสถานที่เกิดเหตุ. (อัดสำเนา).

2. นันทกาล ตาลจินดา. (2556). การตรวจเก็บลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษเทอร์มอลด้วยวิธีการรมไอโอดีน, วิธีนินไฮดริน และวิธี 1,2 อินเดนไดโอน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม.

3. บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน). (ม.ป.ป.). รู้เรื่องเฟื่องกระดาษ. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2560. เข้าถึงได้จาก https://www.doubleapaper.com/th/assets/media/paperknowledge/paper_element1.pdf.

4. วิโชติ บุรพชนก. (2553). การตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษหลายชนิดด้วยวิธีรมไอโอดีน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,นครปฐม.

5. วัลลภ เสมาทอง. (2554). การตรวจรอยลายนิ้วมือแฝงจากคราบเลือดบนกระดาษชนิดต่างๆ ด้วยเทคนิคนินไฮดริน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม.

6. สิวลี ลิมป์รัชตวิชัย. (2540). การหาระยะเวลานานที่สุดที่สามารถตรวจเก็บรอยลายนิ้วมือแฝงด้วยผงฝุ่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นครปฐม.

7. อรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ และคณะ. (2552). นิติวิทยาศาสตร์ 2 เพื่อการสืบสวนสอบสวน.(พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: จีบีพี เซ็นเตอร์.

8. เอกจิตรา มีไชยธร. (2551). การศึกษาการปรากฏขึ้นของลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษด้วยนินไฮดริน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม.