ปัญหาทางกฎหมายในการบริหารกองทุนยุติธรรมตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

Main Article Content

มยุรี จำจรัส
จิรศักดิ์ รอดจันทร์

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายในการบริหารกองทุนยุติธรรมตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายการบริหารของกองทุนยุติธรรม การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการศึกษาทางเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม จากผลการวิจัย พบว่า ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มีปัญหาในการตีความ และการบังคับใช้กฎหมาย หากแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 จะสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ตรงตามเจตนารมณ์ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติทางกฎหมายบางประการตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ที่ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ บางส่วนยังไม่สมบูรณ์ ขาดความชัดเจน และโครงสร้างการบริหารกองทุนยุติธรรม สมควรมีรูปแบบเป็นหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะในรูปองค์การมหาชนที่ไม่แสวงหากำไร อยู่ภายในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมมีหน่วยงานกลาง และหน่วยงานระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการให้บริการ การบริหารต้องมีความเป็นเอกภาพ อิสระ มีความชัดเจน และมีหน่วยตรวจสอบและประเมินภายในองค์กรเพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรมได้อย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงสุด และ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ในประเด็น ดังนี้ เพิ่มนิยามศัพท์ คำว่า การดำเนินคดี หมายความว่า การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดี ระหว่างฟ้องคดี หรือภายหลังคดี ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร การเพิ่มวงเงินเพื่อให้กองทุนยุติธรรมมีสภาพคล่อง ไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินเฉพาะส่วนที่นำส่งคลัง โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กำหนดให้กองทุนยุติธรรมมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนไทยทั้งในและนอกราชอาณาจักร รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย กำหนดให้พนักงานกองทุนยุติธรรมเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การพิจารณาเพิ่มเติมการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาฐานะของผู้จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนและยกเลิกหลักเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มเติม คือ บุคคลอื่นใด หรือมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันได้ การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม และเพิ่มเติมการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย คือ ค่าทดแทนการถูกคุมขัง และข้อสงวนสิทธิในค่ารักษาพยาบาล และกำหนดให้มีการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. จิรศักดิ์ รอดจันทร์. (2556). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักการและบทวิเคราะห์. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

2. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2557). กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: เดือนตุลา.

3. ปกป้อง ศรีสนิท. (2555). การปฏิรูปกองทุนยุติธรรม. กรุงเทพมหานคร: เป็นไท.

4. พัลลภ ศักดิ์โสภณกุล. (2547) วิวัฒนาการกฎหมายวิธีการงบประมาณและการปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด.

5. วิชิต แย้มยิ้ม. (2560). แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการกองทุนยุติธรรมสำหรับประเทศไทย.วารสารวิชาการอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ. 3(1), 60-72.

6. อภิรดี โพธิ์พร้อม และคณะ. (2550). ปัญหาความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนได้รับ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานศาลยุติธรรม.

7. Breton, Albert. (1947). The Economic Theory of Representative Government. Chicago: Aldine Publishing Co.

8. DC. UNODC. (2018) Access to Legal Aid in Criminal Justice Systems in Africa. Retrieved December 30, 2018, from https://www.unodc.org/pdf/criminal_justice/Survey_Report_on_Access_
to_Legal_Aid_in_Africa.pdf

9. Lindhal, W.E. (1992). Strategic Planning for Fund Raising: How to Bring in More Money Using Strategic Allocation. San Francisco: Jossey-Bass.

10. Mc Carthy, John D. and Zald, Myer N. (1977). Resource Mobilization and Social Movements: A Partial Theory. American Journal of Sociology. 82(6), 1212 – 1241.

11. Schick, Allen. (2004). Twenty-five years of budgeting reform, OECD Journal on Budgeting. 4(1), 81-102.

12. Shah A. (2007). Overview in Budgeting and budgetary institutions. World Bank: Washington.

13. World Justice Project. (2018) The WJP Rule of Law Index 2017–2018 Report. Retrieved June 30, from https://worldjusticeproject.org/sites/default/files/documents/WJP-ROLI-2018-June-Online-Edition_0.pdf