การจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดตาก

Main Article Content

ภูธนภัส พุ่มไม้

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง การจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดตาก ครั้งนี้ เป็นการวิจัยเป็นเชิงปฏิบัติการ(Action Research)โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่และขนาดกลางซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดตาก 2) เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และความต้องการและแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดตาก 3) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมที่เหมาะสมของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดตาก 4) เพื่อประเมินการใช้รูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดตาก การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 เป็นพื้นที่ในการวิจัย โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Research Method) ทั้งเทคนิคเชิงปริมาณ(Qualitative Technique) และวิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Technique) วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติอนุมาน ผลการศึกษาพบว่า สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านหลักการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการทำงานแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนในการรับผิดชอบงาน ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และร่วมกันดำเนินกิจกรรมตามโครงการ วางแผนกำหนดแนวทาง กำหนดเป้าหมายให้ครูและนักเรียนแต่ละระดับชั้นมีส่วนร่วมในการดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม คือ ไม่มีแผนปฏิบัติการในการดำเนินการตามแผน/โครงการ ขาดหลักสูตรและรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ในด้านการสร้างรูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยได้พัฒนารูปแบบในลักษณะของโครงการที่มีกิจกรรมปฏิบัติจริง และสอดแทรกในเนื้อหาวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาและบูรณาการการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของโครงการต่างๆที่จะนำมาซึ่งการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้อย่างแท้จริง ด้านการประเมินและวิเคราะห์ผลการศึกษา ผู้วิจัยพบว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จของรูปแบบการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม ความสำเร็จของกิจกรรมการเรียนรู้เกิดจาก การจัดกิจกรรมที่นักเรียนยึดหลักนักเรียนเป็นสำคัญ หน่วยการเรียนรู้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน นักเรียน ได้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้าและการทดลองปฏิบัติ ตามความสนใจและความถนัดของนักเรียนในทุกกิจกรรม ซึ่งการจัดการกระบวนการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ยังมีความสอดคล้องกันกับแนวนโยบายการศึกษาในระดับชาติ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในสถานศึกษาต่างๆได้ในทันทีและมีประสิทธิภาพ

Article Details

บท
บทความวิจัย