รูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถ และการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอน : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร

Main Article Content

ทิพย์วิมล วังแก้วหิรัญ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาบุคลากร และการใช้แหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร 2) สร้างรูปแบบการพัฒนาความรู้ความ สามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนที่เหมาะสมของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร และ 3) ศึกษาผลใช้รูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนของโรงเรียนวัดโสธรวราราม การวิจัยครั้งนี้ทำการศึกษากับกลุ่มประชากร ซึ่งได้แก่ คณะผู้บริหารและบุคลากรสายผู้สอน โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ในการจัดประชุมกลุ่มเพื่อศึกษาข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการได้รับการพัฒนาของผู้บริหารสถานศึกษาและครูโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร 2) แบบประเมินคุณภาพรูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนที่เหมาะสมของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร 3) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ในการจัดประชุมกลุ่มเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาความรู้ความ สามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนที่เหมาะสมของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครู  การวิจัยปรากฏผล ดังนี้

                  1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ปรากฏผลการศึกษาดังนี้

                       1.1 การศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการได้รับการพัฒนาของผู้บริหารสถานศึกษาและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ของ โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร สรุปประเด็นสำคัญ คือ 1) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับครู 2) การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตร และ 3) การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

                        1.2 ผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานแหล่งเรียนรู้ พบว่า แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่มีการใช้งานจำนวนครั้งมากที่สุดประกอบด้วยป้ายนิเทศ  ห้องสืบค้นห้องปฏิบัติการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ศูนย์อาหารห้องสมุด และศาลาอาเซียน ส่วนแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่มีการใช้งานจำนวนครั้งน้อยที่สุดคือ ห้องพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังพบว่า แหล่งเรียนรู้ภายนอกโรงเรียนที่มีการใช้งานจำนวนครั้งมากที่สุด คือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร และพบว่าทางโรงเรียนมีการเชิญพระภิกษุ สามเณรมาให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียน ครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นแตกต่างกันทั้งประเภทและจำนวนครั้งที่มีการจัดการเรียนรู้

                  2. การสร้างรูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนที่เหมาะสมของโรงเรียน ได้รูปแบบที่มีชื่อว่า รูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model โดยมีแนวคิดหลักการบริหารที่มีคุณภาพเป็นระบบครบวงจร (PDCA) ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (Plan) การดำเนินการปฏิบัติตามแผน (Do) การร่วมกันตรวจสอบ (Check) และการดำเนินการปรับปรุง (Action) ร่วมกับการใช้แนวคิดกระบวนการวิจัย (R: Research) การวางแผนใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ (RU: Resources Utilization) การประเมินเสริมพลัง (E: Empowerment Evaluation) และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (D: Development) เป็นหลักการสำคัญของรูปแบบ ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาความรู้ความสามารถและการใช้แหล่งเรียนรู้ของบุคลากรสายผู้สอนพบว่ามีความเหมาะสมในระดับมากทุกองค์ประกอบ

                3. ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model ในการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียน โดยผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model  ในการจัดทำแผนงานโครงการของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน และใช้เพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารงานโรงเรียนของผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งผลการถอดบทเรียนที่ได้จากการใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model โดยคณะผู้วิจัย พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำรูปแบบการพัฒนาบุคลากรและการใช้แหล่งเรียนรู้ RRUED Model ไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการพัฒนา การมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และการตระหนักถึงองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน อันได้แก่ การสร้างความเข้าใจ การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การกำหนดมติการดำเนินงานร่วมกัน และการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน

Article Details

บท
บทความวิจัย