การศึกษาการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 : กรณีศึกษา โรงเรียนวิเชียรชม จังหวัดสงขลา

Main Article Content

สุวรรณ โชติการ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อหาประสิทธิภาพสื่อ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน และเปรียบเทียบคะแนนความคงทนในการเรียนรู้ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม หาความพึงพอใจการใช้งาน และหารูปแบบการ    บูรณาการการใช้งานของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

                การวิจัยครั้งนี้ยึดแบบแผนการวิจัยเชิงทดลองก่อนเรียนและหลังเรียนแบบมีกลุ่มควบคุม (Pretest Posttest Control Group Design) โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นกลุ่มตัวอย่างนักเรียนโรงเรียนวิเชียรชม จังหวัดสงขลา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งไม่เคยเรียนเนื้อหาพลังงาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 107 คน ได้มาด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ( Purposive  Sampling )ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพสื่อจำนวน 42 คน  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคะแนนความคงทนในการเรียนรู้ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มทดลองที่เรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริง จำนวน 33 คน และกลุ่มควบคุมที่เรียนรู้ด้วยวิธีการปกติ จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริงที่ผ่านการหาประสิทธิภาพซึ่งออกแบบโดยการยึดหลักวิธีระบบ (System Approach) และการออกแบบระบบการเรียนการสอนยึดหลัก ADDIE Model แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผ่านการหาคุณภาพ และแบบประเมินความพึงพอใจ ผู้วิจัยนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดการทดลองเสมือนจริงที่สร้างขึ้นทดลองหาประสิทธิภาพโดยการใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพสื่อ 80/80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน และเปรียบเทียบคะแนนความคงทนในการเรียนรู้ด้วยการวัดซ้ำภายหลังการทดสอบหลังเรียน 2 สัปดาห์ โดยการทดสอบค่าทีกลุ่มตัวอย่างอิสระต่อกัน (t-test Independent) สุดท้ายหาความพึงพอใจการใช้งานบทเรียนคอมพิวเตอร์และชุดการทดลองเสมือนจริงโดยการหาค่าเฉลี่ย  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)

                ผลการวิจัยพบว่า

1.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดการทดลองเสมือนจริง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ 82.36/81.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

3.  ความคงทนในการเรียนรู้ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

4.  ความพึงพอใจในการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง พลังงาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ระดับมากที่สุด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยภาพรวม 4.5737 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .3541

5. รูปแบบของการนำเสนอบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและชุดการทดลองเสมือนจริงด้วยการให้เรียนรู้ด้วยเรียนรู้และทำกิจกรรมบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนของแต่ละเนื้อหาเป็นลำดับแรก จากนั้นเรียนรู้ด้วยชุดปฏิบัติการทดลองเสมือนจริง สามารถจัดการเรียนรู้ที่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ลดความแตกต่างระหว่างบุคคลและใช้ในการทบทวนและระลึกความจำก่อนเข้าสู่บทเรียนใหม่

Article Details

บท
บทความวิจัย