คุณภาพชีวิตการทำงานและความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

Main Article Content

เปมิกา สังข์ขรณ์

บทคัดย่อ

  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ 2) ศึกษาระดับความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ 3) เปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตการทำงาน และระดับความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ จำแนกตาม วิทยาเขตที่ปฏิบัติงาน ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งประเภทวิชาการ และประสบการณ์ การปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยทักษิณ 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตการทำงานและความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ และ 5) ศึกษาข้อเสนอแนะและแนวทางในพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ ตำแหน่งประเภทวิชาการสายคณาจารย์ และสายสนับสนุน ที่ปฏิบัติงานทั้งในวิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง จำนวน 260 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบอย่างง่าย  เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามคุณภาพชีวิตการทำงานและความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ มีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เท่ากับ 0.67 – 1.00 มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.98 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบทีแบบอิสระต่อกัน สถิติทดสอบเอฟ และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน

   ผลการวิจัย พบว่า  1) คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.59 2) ความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.90  3) ผลเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตการทำงาน และความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่า วิทยาเขตที่ปฏิบัติงานต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีความผูกพันต่อองค์การไม่แตกต่างกัน  ประเภทพนักงานต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานและความผูกพันต่อองค์การไม่แตกต่างกัน  ตำแหน่งประเภทวิชาการต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีความผูกพันต่อองค์การไม่แตกต่างกัน และประสบการณ์การปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยทักษิณต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานไม่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันต่อองค์การแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) คุณภาพชีวิตการทำงานมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์การในทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5) ข้อเสนอแนะและแนวทางในพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์การของพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ มีดังนี้ มิติด้านส่วนตัว ควรให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว มิติด้านการทำงาน ควรกำหนดภาระการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับคนและมีความสมดุลกันระหว่างคนกับงาน มิติด้านสังคม ควรมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และมิติด้านเศรษฐกิจ ควรกำหนดเงินเดือนที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และเพิ่มสวัสดิการในด้านต่าง ๆ

Article Details

บท
บทความวิจัย