ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการในการพัฒนาตนเอง ของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยทักษิณ

Main Article Content

มาริสา ปานงาม

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  1)  ความต้องการพัฒนาตนเองของบุคลากรสายสนับสนุน  มหาวิทยาลัยทักษิณ ใน 3 ด้าน คือ  ด้านการศึกษาต่อ  ด้านการฝึกอบรม  และด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง  2)  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการพัฒนาตนเองของบุคลากรสายสนับสนุน  และ  3)  ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความต้องการพัฒนาตนเองของบุคลากรสายสนับสนุน  มหาวิทยาลัยทักษิณ  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้  ได้แก่  บุคลากรสายสนับสนุนที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตสงขลา  และวิทยาเขตพัทลุง  รวมทั้งสิ้น 187 คน  ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และคำถามปลายเปิด   มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.67  -  1.00  ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ  0.95  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และสถิติไคสแควร์  ผลการวิจัยพบว่า

                   1.  บุคลากรสายสนับสนุน  มหาวิทยาลัยทักษิณ  มีความต้องการพัฒนาตนเอง  โดยภาพรวม    ทั้ง  3  ด้าน  อยู่ในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  3.87  และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง  มีความต้องการในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  4.05  รองลงมาคือ  ด้านการฝึกอบรม มีความต้องการในระดับมาก  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  4.02  และด้านการศึกษาต่อ มีความต้องการในระดับปานกลาง  มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  3.48 

                   2.  ปัจจัยส่วนบุคคล ด้านเพศ  ระดับการศึกษา  ประสบการณ์ในการทำงาน  สายการทำงาน สถานภาพการสมรส  และรายได้  ไม่มีความสัมพันธ์กับความต้องการในการพัฒนาตนเอง  ส่วนด้านอายุ  มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความต้องการในการพัฒนาตนเองของบุคลากรสายสนับสนุน 

                3.  ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความต้องการพัฒนาตนเองของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยทักษิณ มีดังนี้  1)  ด้านการศึกษาต่อ  มหาวิทยาลัยควรเปิดโอกาสให้บุคลากรสายสนับสนุนลาศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย  2)  ด้านการฝึกอบรม  ควรมีการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานในแต่ละหน้าที่เฉพาะ  และสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ    และ  3)  ด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง  มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญและสนับสนุนปัจจัยด้านงบประมาณและเวลา  ในการให้บุคลากรสายสนับสนุนได้พัฒนาเรียนรู้ด้วยตนเอง

Article Details

บท
บทความวิจัย