ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

Main Article Content

สมบุญ ศิลป์รุ่งธรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิต เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ  วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ จำแนกตามตัวแปรเพศ อายุ ชั้นปีที่ศึกษา และลักษณะการพักอาศัย 3) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านลักษณะสถานการณ์ ได้แก่ การอบรมสั่งสอนเรื่องเพศแบบปล่อยปละละเลย และอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ปัจจัยด้านจิตลักษณะเดิม ได้แก่ ลักษณะมุ่งอนาคต-ควบคุมตน และการเห็นคุณค่าในตนเอง และปัจจัยด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ได้แก่ เจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการรับรู้ข่าวสารด้านเพศจากสื่อมวลชน เป็นตัวแปรที่สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1-5 สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา ปีการศึกษา 2557 คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ จำนวน 245 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า  6 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบอิสระ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ระยะที่ 2 การศึกษาเจตคติและการเปลี่ยนเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิต เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง โดยใช้แบบแผนการทดลอง One-group pretest-posttest design วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มที่นำมาใช้ในการเปลี่ยนเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง เป็นนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา ปีการศึกษา 2558 คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ จำนวน 16 คน ที่มีคะแนนทดสอบก่อนการทดลองต่ำสุด โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นแบบสอบถามเจตคติแบบมาตราส่วนประมาณค่า 6 ระดับ (ชุดเดียวกับระยะที่ 1) วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระ

ผลการวิจัย พบว่า

                1. ค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา มีค่าเท่ากับ 2.79 อยู่ในระดับปานกลาง

                2. นิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา ที่มีเพศ อายุ ชั้นปีที่ศึกษา และลักษณะการพักอาศัยต่างกัน มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05           

                3. ปัจจัยที่สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ เรียงลำดับตามสัมประสิทธิ์การทำนาย ได้แก่ เจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ลักษณะมุ่งอนาคต-ควบคุมตน การเห็นคุณค่าในตนเอง และการรับรู้ข่าวสารด้านเพศจากสื่อมวลชน โดยตัวแปรทั้ง 5 ตัว สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิต ได้ร้อยละ 74.90 ส่วนตัวแปรการอบรมสั่งสอนเรื่องเพศแบบปล่อยปละละเลย ไม่สามารถทำนายพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตได้

                4. ค่าเฉลี่ยของเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม มีค่าเท่ากับ 3.00 และ 3.95 ตามลำดับ อยู่ในระดับปานกลาง

                5. ค่าเฉลี่ยของเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 สาขาพลศึกษาและสุขศึกษา หลังเข้าร่วมกิจกรรม สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Article Details

บท
บทความวิจัย