สภาพ ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6

Main Article Content

วาลิช ลีทา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพ  ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เกี่ยวกับการวางแผนเตรียมการ การดำเนินการปฏิบัติตามแผน การกำกับตรวจสอบการปฏิบัติการ และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยครูผู้สอนจำนวน 324 คน โดยจากการสุ่มอย่างง่าย เพื่อตอบแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าและแบบสอบถามแบบเลือกตอบเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  และคัดเลือกแบบเจาะจงผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 12 คน เพื่อสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาแต่ละด้าน สถิติที่ใช้ในการนำเสนอประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย  ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความถี่ ร้อยละ การทดสอบค่าวิกฤตที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการวิจัยปรากฏโดยสรุปดังนี้

1.สภาพการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยรวมและแต่ละรายด้านปฏิบัติได้จริงในระดับมาก โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ปฏิบัติได้จริงมากกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก

2.การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาแต่ละด้าน มีปัญหาสำคัญดังนี้   ด้านการวางแผนเตรียมการปัญหาสำคัญได้แก่ ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการวางแผน  ด้านการดำเนินการปฏิบัติตามแผนได้แก่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปฏิทินการปฏิบัติงาน ด้านการกำกับตรวจสอบการปฏิบัติงาน ได้แก่ ขาดระบบและความ ไม่จริงจังของคณะกรรมการประกันคุณภาพ และด้านการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ ได้แก่ ขาดงบประมาณและความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน

3.แนวการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาแต่ละด้านมีแนวทางสำคัญดังนี้ด้านการวางแผนเตรียมการ ได้แก่ การอบรมชี้แจงให้ครูและผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ด้านการดำเนินการปฏิบัติตามแผน ได้แก่ คณะกรรมการควรดำเนินการให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ ด้านการกำกับตรวจสอบการปฏิบัติงาน ได้แก่ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการที่มีความรู้ความสามารถและกำหนดตัวบ่งชี้การตรวจสอบที่ชัดเจน และด้านการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ ได้แก่ เชิญนักวิชาการให้ความรู้ความเข้าใจต่อครูและขอรับการสนับสนุนทรัพยากรการดำเนินการจากผู้นำชุมชน

Article Details

บท
บทความวิจัย