การสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์

Main Article Content

จุลชาติ อรัณยะนาค

บทคัดย่อ

          งานวิจัยเรื่อง การสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและบทบาทของเฉพาะตัวละครยักษ์ทั้ง 7 ตน และเพื่อสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์ การวิจัยเรื่องนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ชุดการแสดงตามหลักนาฏยจารีต ซึ่งมีแนวคิดที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงลักษณะบทบาท ความสามารถ และบุคลิกของตัวละครผ่านรูปแบบการแสดงสร้างสรรค์


          ผลการวิจัยพบว่า 1) ลักษณะและบทบาทของตัวละครสหายของทศกัณฐ์ ทั้ง 7 ตน ได้แก่ ท้าวจักรวรรดิ ท้าวอัศกรรณ ท้าวไพจิตราสูร ท้าวสัทธาสูร ท้าวมูลพลัม ท้าวสัตลุง และท้าวมหาบาล ซึ่งมีลักษณะและบทบาทที่แตกต่างกันออกไปตามที่ปรากฏในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 คือ มีความรักและโกรธแค้นแทนเพื่อน จนขาดสติ มิทันได้ไตร่ตรองเรื่องราวของต้นเหตุที่แท้จริงแห่งความวิวาท ด้วยความรักที่มีต่อเพื่อนจึงไปทำสงครามและหมายสังหารพระราม แต่ก็ถูกพระรามสังหารเสียชีวิตจนหมดสิ้น และ 2) การสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์ มีลักษณะโครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยส่วนนำ แสดงถึงการรวมเหล่าบรรดาอสูรทั้ง 7 ตน ส่วนเนื้อหา แสดงถึงลักษณะบุคลิกร่างกายของตัวละคร และส่วนสรุป แสดงถึงความเข้มแข็งเตรียมพร้อมที่จะไปกระทำศึกกับพระรามเพื่อแก้แค้นให้ทศกัณฐ์สหายรัก กระบวนท่าเป็นการบูรณาการแม่ท่าต่าง ๆ และกิริยาการเคลื่อนไหวตามบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งตัวละครแต่ละตัวจะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันออกไป การคัดเลือกผู้แสดง คัดเลือกจากคุณสมบัติพื้นฐานของผู้แสดง คือ ร่างกายต้องแข็งแรง สมบูรณ์ เป็นผู้มีพื้นฐานการรำ (โขนยักษ์) ที่ดี และมีปฏิภาณไหวพริบ การสร้างสรรค์เพลงและบทร้อง เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นการนำเพลงที่มีทำนองแสดงถึงพลังความฮึกเหิม ความเข้มแข็ง และประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่บรรจุลงในทำนองเพลงเพื่อสื่อถึงลักษณะบุคลิกของตัวละคร ได้แก่ เพลงปฐม เพลงตุ้งติ้ง เพลงตระบองกัน เพลงกราวใน และเพลงเชิด การสร้างสรรค์กระบวนท่ารำ มีกระบวนท่ารำที่แปลกใหม่ และตัวละครที่ไม่ค่อยมีโอกาสนำออกแสดง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชมจะไม่ทราบถึงลักษณะของตัวละครซึ่งเป็นสหายของทศกัณฐ์ จึงได้นำตัวละครดังกล่าวมารวบรวมไว้ในบทร้อง เพื่อให้เกิดเป็นการแสดงสัตตะสหายทศกัณฐ์

Article Details

How to Cite
อรัณยะนาค จ. (2021). การสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์. วิพิธพัฒนศิลป์, 1(3), 1–16. https://doi.org/10.14456/wipit.2021.13
บท
บทความวิจัย

References

จุลชาติ อรัณยะนาค. (2562). การสร้างสรรค์การแสดง ชุด สัตตะสหายทศกัณฐ์. [เอกสารไม่ตีพิมพ์]. รายงานการวิจัยสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.

ธรากร จันทนะสาโร. (2557). นาฏยศิลป์จากแนวคิดไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระ. (2540). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม 1-4. กรมศิลปากร.

ไพโรจน์ ทองคำสุก. (2548). ครูเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ รูปแบบความเป็นครูผู้ถ่ายทอด และสร้างสรรค์นาฏศิลป์ไทย. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร.

มนตรี ตราโมท. (ม.ป.ป.). การผสมวง. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เล่มที่ 1 เรื่องที่ 9 ดนตรีไทย. https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=1&chap=9&page=t1-9-infodetail02.html

มโน พิสุทธิรัตนนานนท์. (2540). สุนทรียศาสตร์เบื้องต้น. ภารกิจเอกสารและตำรา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สมศักดิ์ ทัดติ. (2540). จารีตการฝึกหัด และการแสดงโขนของตัวทศกัณฐ์. [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/9832

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2543). นาฏยศิลป์ปริทรรศน์. ภาควิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2547). หลักการแสดงนาฏยศิลป์ปริทรรศน์. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Nattasampum. (2560, 19 มีนาคม). สัตตะสหายทศกัณฐ์ ผลงานนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ของ ผศ.ดร.จุลชาติ อรัณยะนาค. https://www.youtube.com/watch?v=eekT-nLk6wA