กองบรรณาธิการวารสารวิพิธพัฒนศิลป์ได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี รวมถึงจริยธรรมของการเผยแพร่ผลงานวิชาการไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสาร และผู้เกี่ยวข้อง กำหนดบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ กองบรรณาธิการ (editor) ผู้เขียนบทความ (author) และผู้ประเมินบทความ (peer-reviewer) ให้ได้ศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ดังนี้

1. บทบาท และหน้าที่ของกองบรรณาธิการ

    1.1 กองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ

    1.2 กองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

    1.3 กองบรรณาธิการต้องคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้วโดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

    1.4 กองบรรณาธิการต้องไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว

    1.5 กองบรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ แต่จำเป็นต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ ก่อน

    1.6 กองบรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร

    1.7 กองบรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน หากตรวจสอบพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ และติดต่อผู้เขียนหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ

    1.8 กองบรรณาธิการต้องแจ้งผลการพิจารณารับตีพิมพ์บทความให้ผู้เขียนทราบภายในระยะเวลา 3 เดือน

2. บทบาท และหน้าที่ของผู้เขียนบทความ

    2.1 ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่าผลงานที่เผยแพร่เป็นผลงานใหม่ และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน

    2.2  ผู้เขียนบทความต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามองค์ประกอบของบทความในแต่ละประเภท มีรายละเอียดของบทคัดย่อที่ชัดเจน มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร อ่านง่าย มีองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนรูปแบบ และหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด

    2.3 ผู้เขียนบทความต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นถ้ามีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในบทความของตนเองผ่านการอ้างอิงในเนื้อหาและแสดงในรายการอ้างอิงทุกรายการ

    2.4 ผู้เขียนบทความต้องไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกัน ไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับรวมถึงไม่คัดลอกข้อความจากผลงานเดิม โดยไม่อ้างอิงตามหลักวิชาการ

    2.5 ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยในบทความ

    2.6 ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องมีส่วนในการวิจัย ค้นคว้า และเขียนบทความร่วมกันจริง

    2.7 ผู้เขียนบทความต้องแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีในบทความให้กองบรรณาธิการทราบ ตั้งแต่เริ่มส่งต้นฉบับบทความ

    2.8 ผู้เขียนบทความต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย หากบทความมีการใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยในคนหรือสัตว์

    2.9 ผู้เขียนบทความต้องไม่แทรกแซงกระบวนการประเมินบทความ และการดำเนินงานของวารสารไม่ว่าทางหนึ่งทางใด

    2.10 ผู้เขียนบทความต้องไม่นำบทความที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากผู้ประเมิน มาประเมินใหม่หรือนำเสนอใหม่อีกครั้งไม่ว่ากรณีใด ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของผู้ประเมินแล้วก็ตาม

3. บทบาท และหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

    3.1 ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่รักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทความที่พิจารณา

    3.2 ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความ หากพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความที่ตนเป็นผู้ประเมิน เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการที่ปรึกษา หรือเหตุผลอื่นที่ไม่อาจให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้

    3.3 ผู้ประเมินบทความต้องประเมินโดยพิจารณาจากเนื้อหาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร รวมทั้งมีรายละเอียดของบทคัดย่อที่ชัดเจน อ่านง่าย มีองค์ความรู้ใหม่

    3.4 ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความด้วยความเป็นกลาง โดยปราศจากอคติ

    3.5 ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความ โดยให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์เพื่อการปรับปรุงแก้ไขบทความ

    3.6 ผู้ประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความซึ่งผู้เขียนบทความไม่ได้อ้างถึง หากพบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกับผลงานชิ้นอื่นต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

    3.7 ผู้ประเมินบทความต้องไม่แทรกแซงกระบวนการประเมินบทความ และการดำเนินงานของวารสารไม่ว่าทางหนึ่งทางใด