แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของสถานีตำรวจและหน่วยกู้ภัยขณะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล

Main Article Content

ทศพล อัครพงษ์ไพบูลย์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมรรถนะและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานร่วมกัน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล และเพื่อศึกษาแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันของสถานีตำรวจและหน่วยกู้ภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึก และการเก็บข้อมูลโดยการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมเพื่อทำการศึกษาการปฏิบัติงานจริงของทั้ง 2 หน่วยงาน
ผลการวิจัยพบว่า หนึ่ง สมรรถนะในการปฏิบัติงานของหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงานที่มีความแตกต่างกันคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสมรรถนะในเรื่องความรู้ด้านกฎหมายและการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมีสมรรถนะในด้านการเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุด้วยความรวดเร็ว คล่องแคล่ว รวมถึงการปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บเพื่อนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว สอง ข้อจำกัดในการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัย คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานเสื่อมสภาพและไม่เพียงพอ ทรัพย์สินของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตสูญหาย และการเดินทางไปที่เกิดเหตุล่าช้า โดยที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานนั้นมีข้อจำกัดเฉพาะตัว โดยสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น มีข้อจำกัดคือกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณไม่เพียงพอ สาม แนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยคือ ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุอาจมีการทำลายพยานหลักฐานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ซึ่งหน่วยงานกู้ภัยเป็นหน่วยงานแรกๆ ในการเข้าถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในเบื้องต้นโดยการถ่ายภาพที่เกิดเหตุโดยรวบรวมและการรักษาพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงานควรสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันก่อน แล้วจึงสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งในฐานะผู้ประสบเหตุและผู้เห็นเหตุการณ์ โดยการจัดทำโครงการให้ความรู้แก่ชุมชน โรงเรียน หรือเผยแพร่ทางสื่อท้องถิ่นและโซเชียลมีเดีย และรัฐบาลควรให้การสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานกู้ภัยเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติงาน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

เกรียงศักดิ์ คงทับทิม. 2546. การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในการป้องกันปัญหายาเสพติด: ศึกษาเฉพาะกรณีเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฎนครปฐม.
ชาตรี เจริญชีวะกุล. 2555.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ.กรุงเทพ:สำนักงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
นรินทร์ชัย พัฒนพงศา. 2546. การมีส่วนร่วม หลักการพื้นฐาน เทคนิคและกรณีตัวอย่าง. กรุงเทพฯ
วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (2549). แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ การประยุกต์ และการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โฟร์เพซ.
สุมิตรา เขื่อนแก้ว. 2552. ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติของอาสากู้ชีพในการช่วยเหลืออุบัติเหตุจราจรในชุมชน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าอิสระ พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อรุณรัตน์ ชัยวิริยโชติ. 2546. แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนในช่วงเทศกาล. วิทยานิพนธ์วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี