แนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning loss) สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก
Main Article Content
บทคัดย่อ
วิจัยนี้เป็นรูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 2) เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก กลุ่มเป้าหมายคือ 1) กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ใช้การเลือกตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน มีผลการประเมินค่า IOC ของแบบสอบถามคือ 1.00 เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นจากแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) กลุ่มผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และกลุ่มศึกษานิเทศก์และบุคลากร สพฐ. คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลโดยการเลือกแบบเจาะจง ดำเนินการจัดสนทนากลุ่มจำนวน 3 ครั้ง ผ่านโปรแกรมซูม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการนำข้อมูลจากการสนทนา มาจัดกระทำข้อมูล ตรวจสอบ และวิเคราะห์เนื้อหา และ 3) กลุ่มผู้ประเมินคุณภาพของร่างแนวทางฯ ได้แก่ ศึกษานิเทศก์และอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการประเมินค่า IOC ของแบบประเมินคุณภาพของร่างแนวทางฯ เท่ากับ 1.00 คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิโดยการเลือกแบบเจาะจง ผู้วิจัยจัดส่งแบบประเมินคุณภาพของร่าง แนวทางฯ ซึ่งเป็นแบบตรวจสอบรายการให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายได้แก่ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) 5 อันดับแรก ได้แก่ ครูมีภาระงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการสอน นักเรียนมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน นักเรียนมีความต้องการและความถนัดแตกต่างกัน ผู้ปกครองขาดการส่งเสริมสนับสนุนหรือช่วยเหลือนักเรียนด้านภาษาอังกฤษ และครูไม่ครบชั้น 2) แนวทางฯ มีความครอบคลุมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับโรงเรียนขนาดเล็ก ข้อมูลครบถ้วน มีความชัดเจน เป็นขั้นตอน ใช้ภาษาเข้าใจง่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นำไปสู่การฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และ 3) ผลการประเมินคุณภาพของแนวทางฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ความชัดเจน ถูกต้องของการใช้ภาษาและเนื้อหา ความเหมาะสมในการนำไปใช้ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และคุณภาพโดยรวมของแนวทางฯ อยู่ในระดับดีมาก
Article Details
References
ธิษณา ศรัทธารัตน์ธนา. (2564). การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในวิถีชีวิตใหม่ในบริบทการศึกษาของประเทศไทย. วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม. 20 (3), C1-C15.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). รายงานผลการศึกษาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19: สภาพการณ์ บทเรียนและแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.
อัครนัย ขวัญอยู่ (2558). แนวทางการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก. กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.
Heng, K., & Sol, K. (2020). Online learning during COVID-19: Key challenges and suggestions to enhance effectiveness. Online. Retrieved July 17, 2022. From: https://www.researchgate.net/publication/346719308_Online_learning_during_COVID-19_Key_challenges_and_suggestions_to_enhance_effectiveness
Oktavia, D., Mukminin, A., Fridiyanto, U., Hadiyanto, H., & Marzulina, L. (2022). Challenges and Strategies Used by English Teachers in Teaching English Language Skills to Young Learners. Theory and Practice in Language Studies, 12 (2), 382–387.