ความร่วมมือของภาครัฐและชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์ของหมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

จุฑาทิพย์ แร่เพชร
รุ่งอรุณ บุญสายันต์

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และชุมชนในการจัดการการโฮมสเตย์ของหมู่บ้านแม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อศึกษาเงื่อนไขความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโฮมสเตย์ของหมู่บ้านแม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งได้ใช้แบบสัมภาษณ์ในการเก็บข้อมูล โดยผู้วิจัยกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีประสบการณ์ในการจัดการโฮมสเตย์รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้ให้ข้อมูลสำคัญจากภาครัฐจำนวน 5 คน และชุมชนจำนวน 29 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 34 คน จากนั้นจึงนำมาข้อมูลมาสรุป เรียบเรียง จัดหมวดหมู่ ตีความและวิเคราะห์เนื้อหา(Content Analysis)
          ผลการวิจัย พบว่า 1) ความร่วมมือของภาครัฐและชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์เกิดจากความร่วมมือทั้ง 3 ประการคือ การชักชวนเข้ามาร่วม (Cooptation) การวมกันเป็นแนวร่วม (Coalition)  และการต่อรอง (Bargaining) ซึ่งนำไปสู่การจัดการโฮมสเตย์ร่วมกันภายใต้การจัดการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย 7 ประการ โดยสามารถแบ่งการดำเนินการของแต่ละภาคส่วนได้ดังนี้ การดำเนินการของภาครัฐประกอบด้วย ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ด้านสภาพแวดล้อม และด้านมูลค่าเพิ่ม และการดำเนินการของชุมชนประกอบด้วย ด้านที่พัก ด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการและบริการ และด้านการส่งเสริมด้านส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ จากการดำเนินการของแต่ละภาคส่วนเป็นการดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของหมู่บ้านแม่กำปองซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน 2) พบว่า เงื่อนไขความสำเร็จในการจัดการโฮมสเตย์เกิดจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ปัจจัยการจัดการทั่วไป ประกอบด้วย คน(Man) งบประมาณ (Budget) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการเข้าพัก ซึ่งสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ดังนี้ ที่ตั้ง วิถีชีวิต และมาตรฐานโฮมสเตย์ของหมู่บ้านกำปอง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย. (2560). โฮมสเตย์บ้านแม่กำปอง. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2560. แหล่งที่มา: http://www.homestaythai.net/ Homepages/ViewHomestay/11/โฮมสเตย์บ้านแม่กำปอง.

จักรพันธ์ ภูมิสุทธาผล. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาส่ง เสริมการเกษตร. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เดชา โต้งสูงเนิน. (2543). การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร กรณีศึกษาบ้านม่วงคำตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

รัตนชัย คงมั่น . (2548). การวิเคราะห์โครงสร้างการจัดการของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในจังหวัดเชียงใหม่. หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .

วรรณพร วณิชชานุกร. (2540). นิเวศท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์. กรุงเทพมหานคร: ทรรปณ์ศิลป์.

สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2561). ชุมชนแม่กำปอง. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2561. แหล่งที่มา http://www.cbt-i.or.th/?ge=travel&travel_ge=show_travel&gen_lang

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2551). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. ขอนแก่น: หจก.ขอนแก่นการพิมพ์.

อติรส หยงสตาร์. (2547). ศึกษาการประเมินผลการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.