การสื่อสารทางการเมืองของรัฐบาล สปป.ลาว ต่อบทบาททางการเมืองของผู้หญิง ผ่านหนังสือพิมพ์แม่หญิงลาวและวารสารสาวลาวช่วงปี ค.ศ. 1975 – 2010
คำสำคัญ:
การสื่อสารทางการเมือง สื่อในฐานะเครื่องมือของรัฐ บทบาททางการเมืองของผู้หญิงบทคัดย่อ
การสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรภาครัฐนํามาใช้เพื่อสร้างความสําเร็จ และความชอบธรรมทางการเมือง โดยในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การสื่อสารทางการเมืองได้มีวิวัฒนาการในรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงสมัย ซึ่งในแต่ละช่วงสมัยนั้นการให้ค่าของสิ่งต่างๆ ผ่านการสื่อสารจากผู้นำไปสู่ผู้ตามจะมีความแตกต่างและเฉพาะเจาะจงตามบริบททางสังคมของสังคมนั้นๆ โดยถูกแวดล้อมด้วยขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี วิถีปฏิบัติของสังคมและรูปแบบการปกครองของรัฐในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยประเทศลาว หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในช่วงระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเปลี่ยนการปกครองที่ส่งผลกระทบต่อวิถีความเชื่อดั้งเดิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องบทบาททางเพศระหว่างหญิง-ชายในสังคม ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทางรัฐบาล สปป.ลาว ได้พยายามสร้างและนิยามบทบาทหญิง-ชาย โดยผ่านวิธีการสื่อสารทางการเมืองจากระดับประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค แขวง เมือง และท้องถิ่น โดยการสื่อสารทางการเมืองของรัฐบาล สปป.ลาว จะวางอยู่บนแนวทางทฤษฎีเบ็ดเสร็จนิยม (Totalitarian Theory) ซึ่งเป็นวิธีการปกครองของประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ได้แก่ ลาวและเวียดนาม ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเหล่านี้จะควบคุมกลไกการสื่อสารให้ตอบสนองต่อแนวทางของรัฐเท่านั้น ดังนั้นการสื่อสารทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ต่อบทบาททางการเมืองของผู้หญิง จึงถูกเน้นย้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศโดยอาศัยการสร้างชาติด้วยความร่วมมือระหว่างหญิง-ชาย โดยเน้นย้ำไปที่บทบาทเพศต่อการปฏิบัติงานในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ค.ศ. 1975 - ปัจจุบัน.