วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) ของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า
คำสำคัญ:
วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล, บิ๊กดาต้า, ข่าวเชิงสืบสวน, สำนักข่าวไทยพับลิก้าบทคัดย่อ
วารสารศาสตร์เชิงข้อมูลหรือ Data Journalism ทวีความสำคัญต่อสื่อมืออาชีพโดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับข่าวสารมากมาย แม้การใช้ข้อมูลในการรายงานข่าวเป็นแนวทางที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในองค์กรสื่อมวลชน แต่การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นระบบระเบียบเป็นความท้าทายประเด็นการทำงานข่าว โดยเฉพาะการรายงานข่าวเชิงสืบสวน (Investigative reporting) ในลักษณะวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลยังมีไม่มากในองค์กรสื่อมวลชนไทย บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายกระบวนการทำงานวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล และปัญหาอุปสรรคในการทำงานดังกล่าวของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าซึ่งเป็นสำนักข่าวที่เน้นการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการรายงานข่าวในรูปแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล
กระบวนการทำงานข่าวแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) ของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เริ่มจากการกำหนดประเด็นข่าวที่คาดว่าจะสามารถผลักดันให้มีการขับเคลื่อนหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม และเป็นประเด็นข่าวใหม่ที่นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง รวมทั้งมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของข่าวที่รายงานข่าวบนข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น ที่สำคัญคือมีการนำเทคโนโลยีมาจัดการกับข้อมูลทั้งการวิเคราะห์และนำเสนอ ช่วยให้การนำเสนอข่าวทำได้หลายรูปแบบและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการทำข่าวแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลมีปัญหาและอุปสรรคคือ แหล่งข้อมูล โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลเปิดในประเทศไทยมีน้อย และข้อมูลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงและใช้งานได้ โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐมีการจัดเก็บไม่ครบถ้วน และ/หรือจัดเก็บในรูปเอกสาร ไม่ได้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์ที่สามารถนำมาออกมาใช้วิเคราะห์เพื่อนำเสนอข่าวได้ทันที อีกทั้งยังประสบปัญหาการปิดกั้น กระบวนการอนุญาตให้ใช้ เข้าถึงข้อมูลที่ล่าช้า ซึ่งความยุ่งยากของข้อมูลและความล่าช้าในการเข้าถึงมีผลต่อระยะเวลาในการทำงานข่าวลักษณะนี้ ทั้งการวิเคราะห์ การออกแบบการนำเสนอ ประการสำคัญการทำข่าวแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลที่ติดตั้งมากับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป การรายงานข่าวแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลจึงมีปริมาณข่าวจำนวนน้อย เนื่องจากต้องใช้ทั้งเวลาและกำลังความสามารถของบุคคลากรและเทคโนโลยี