อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่

ผู้แต่ง

  • ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
  • ฐิตินัน บุญภาพ

คำสำคัญ:

อัตลักษณ์, เพลงอีสาน, เทคโนโลยีก่อกวน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)  เพื่อศึกษาการเคลื่อนตัวของสื่อเพลงจากวัฒนธรรมอีสานสู่วัฒนธรรมส่วนกลาง  2) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์เพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่ และ 3) เพื่อศึกษาบทบาทของสื่อดิจิทัลในฐานะเทคโนโลยีก่อกวน (Disruptive Technology) ในการเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมอีสาน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยดังนี้ วิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) เพลงอีสานประยุกต์จำนวน 20 เพลง สัมภาษณ์เชิงลึกนักร้อง ศิลปินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพลงอีสานประยุกต์ จำนวน 5 คน และจัดสนทนากลุ่ม กลุ่มผู้ฟังเพลงอีสานจำนวน 8 คน

ผลการวิจัยสรุปว่า อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่ คือ เพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอีสานเป็นหลัก ผสมผสานด้วยภาษาอื่น เช่นอังกฤษ ไทยกลาง เขมร มีวิธีการนำเสนอผ่านดนตรีที่หลากหลาย ผสมทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องดนตรีสากล ขับร้องโดยคนอีสาน โดยมากนักร้องในยุคอีสานใหม่มีอายุประมาณ 20-25 ปี ซึ่งถ่ายทอดความคิดออกมาในเนื้อหาเพลงที่พูดถึงเรื่องความรัก และฉายภาพชนบทอีสานยุคใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่ความยากลำบาก ทุ่งนาแตกระแหงอีกแล้ว แต่เป็นวิถีชีวิตที่เข้าถึงความเจริญของเขตเมือง ตัวละครในเพลงมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ตีอกชกตัว ทั้งยังภูมิใจในความเป็นคนอีสาน และพยายามแสดงออกมาอย่างเด่นชัด เก็บสุนทรียะแบบอีสานที่มีความสนุกสนาน ขำขัน ขี้เล่น เอาไว้ในเพลงอยู่เสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้เผยแพร่ไปสู่คนส่วนมากด้วยการใช้สื่อใหม่เป็นตัวกลาง มีการทำค่ายเพลงขนาดเล็กเองในต่างจังหวัด โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวเผยแพร่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-11-25