โมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาระดับการรับรู้ความยุติธรรมในองค์กร ความไว้วางใจ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน และสมรรถนะในการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์และ 3) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม อิทธิพลรวมของปัจจัยที่ส่งผลต่อสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นบุคลากรสายสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 900 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling)
ตามกลุ่มคณะโดยวิธีจับสลาก เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันด้วยโปรแกรม SPSS for Window และวิเคราะห์โมเดลการวัดเพื่อหาค่าสถิติเชิงอ้างอิง ด้วยโปรแกรม MPlus for Window
ผลการวิจัย พบว่า
1) ระดับความยุติธรรมในองค์กร ความไว้วางใจ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน และสมรรถนะในการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในระดับ ‘มาก’
2) โมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยค่าน้ำหนักองค์ประกอบของโมเดลการวัดปัจจัยเชิงสาเหตุและสมรรถนะการปฏิบัติงาน ตัวแปรลักษณะทางสังคมหรือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบและค่าสัมประสิทธิ์พยากรณ์สูงที่สุด
3) ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อตัวแปรสมรรถนะการปฏิบัติงาน คือ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน และแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน โดยตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงและอิทธิพลรวมสูงสุดต่อสมรรถนะการปฏิบัติงาน คือ แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ตัวแปรความยุติธรรมในองค์กร และความไว้วางใจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อสมรรถนะการปฏิบัติงาน