รูปแบบและคติความเชื่อในจิตรกรรมทิวทัศน์จีน

Main Article Content

ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “รูปแบบและคติความเชื่อในจิตรกรรมทิวทัศน์จีน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาจิตรกรรมทิวทัศน์เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร กรุงเทพฯ เพื่อศึกษารูปแบบและคติความเชื่อจิตรกรรมทิวทัศน์เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร กรุงเทพฯ โดยใช้เครื่องมือ 2 ลักษณะ ได้แก่ การเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม แล้ววิเคราะห์ข้อมูลตามการเก็บข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งจัดสรุปข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่เพื่อหาคำตอบตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม (Non – Participant Observation) โดยใช้ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ และทฤษฎีสัญศาสตร์ เพื่อทบทวนตรวจสอบข้อมูลให้มีความถูกต้อง จากนั้นนำเสนอข้อมูลเชิงการพรรณนาร่วมกับภาพข้อมูลด้วย โดยผลการวิจัย พบว่า เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีนตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขตพระนครในปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายแก่พระวิสูตรวารี (มะลิ) ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับยังพระบวรราชวัง เก๋งนุกิจราชบริหารเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 4.50 เมตร ยาว 7.8 เมตร สูงถึงสันหลัง 4.50 เมตร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน หน้าบัน จั่ว และสันหลังคาเขียนรูปดอกพุดตานและหงส์ฟ้าลักษณะการเขียนสีลายกระบวนจีน ภายในเก๋งมีจิตกรรมฝาผนังทั้ง 3 ด้าน เล่าเรื่องพงศาวดารจีนเก่าแก่ “เรื่องห้องสิน” ฝีมือของช่างจีน ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 5 จิตรกรรมฝาผนังภายในเก๋งจีนเรื่อง “ห้องสิน” จัดอยู่ในประเภทนิยายเทพปกรณัมจีน มีการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จิตรกรรม “ห้องสิน” เป็นจิตรกรรมขนาดใหญ่ ช่างชาวจีนได้รังสรรค์ไว้อย่างวิจิตรสวยงาม แต่ละฉากแต่ละตอนมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างเลื่อนไหล สะท้อนให้เห็นถึงศิลปกรรมแบบพื้นถิ่นจีน ซึ่งในภาพยังปรากฏอักษรจีนระบุชื่อของตัวละครเอกต่างๆ ชื่อค่ายกล ชื่อถ้ำ ชื่อสถานที่ โดยเฉพาะชื่อภูเขาทิวทัศน์ด้วย โดยภาพรวมของจิตรกรรมฝาผนังในแต่ละด้าน พบว่า องค์ประกอบภาพและสีสันของภาพมีความสวยงาม เน้นจังหวะการเคลื่อนไหว และมิติของภาพด้วยเส้นสีดำที่ใช้ในการตัดเส้น การแบ่งภาคหรือแบ่งตอนเพื่อเล่าเรื่องราวฉากต่างๆ จะแบ่งด้วยการใช้ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ โดยการใช้ฉากขุนเขาที่สูงชัน ต้นไม้ขนาดใหญ่ลักษณะบิดงอ แม่น้ำคดเคี้ยว และก้อนเมฆลักษณะกลุ่มก้อนมีมวล เหล่านี้จึงถือได้ว่ามีมีบทบาทความสำคัญต่อการกำหนดทิศทาง โครงสร้าง ขอบเขต รวมถึงองค์ประกอบของจิตรกรรม “ห้องสิน” นอกจากนี้ภาพจิตรกรรม “ห้องสิน” ยังแฝงบทบาทสำคัญต่อการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาทางขนบธรรมเนียม รวมถึงหลักคุณธรรม จารีตอย่างจีนด้วย ด้วยเนื้อหามุ่งเน้นความกล้าหาญ ความเสียสละ และความอดทน โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ของชนชาวจีน ที่ได้รับการปลูกฝังมาจากหลักคิดแห่ง “เต๋าและขงจื้อ” จนในที่สุดก็ติดตัวและกลายเป็นลักษณะนิสัยสำคัญของชาวจีนตราบจนทุกวันนี้ สรุปจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ห้องสิน” เป็นจิตรกรรมที่มีความสวยงามตามอย่างจิตรกรรมขนบจีน ช่างวาดได้รังสรรค์ไว้เพื่อเป้าหมายของการเป็นภาพที่สื่อถึงคุณธรรมความดี ความกล้าหาญและความเสียสละเป็นหลัก

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กำจร สุนพงษ์ศรี. (2531). ประวัติศาสตร์ศิลปะจีน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ซู จิน เซิง. (2564). การศึกษาเทคนิคการใช้สีของชาวจีนโบราณ. เซี่ยงไฮ้ : คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน.

ต้วน ลี เซิง และคณะ. (2543). ความเป็นมาของวัดจีนและศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ส่องสยาม.

พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น. (2558). การศึกษาเปรียบเทียบสุนทรียภาพของภาพเขียนหมึกดำรูปทิวทัศน์: กรณีศึกษาจากลัทธิเต๋าและนิกายเซนของจีนและญี่ปุ่น. วารสารศิลป์ พีระศรี, 3(1), 163-229.

ภูริวรรณ วรานุสาสน์. (2559). สัญลักษณ์และเรื่องเล่าจากจิตรกรรมศาลเจ้าจีน : กรณีศึกษาจากศาลเจ้าบึง พระ ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก. วารสารจีนวิทย, 10, 24-47.

ยง จื้อ. (2549). หนังสือการเรียนศิลปะจีน. ปักกิ่ง : มหาวิทยาลัยปักกิ่ง.

สู ทั่น. (2559). การเขียนภาพวาดทิวทัศน์. เจ้อเจียง : สถาบันศิลปะชนชาติจีนเจ้อเจียง.