บทวิจารณ์หนังสือ ดนตรีลาวเดิม

Main Article Content

จักรพงศ์ ชมภูพิศ Chakrapong Chomphupit

Abstract

ย้อนอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้วมา การศึกษาดนตรีในประเทศไทยเป็นการศึกษาเพื่อการอาชีพ หมายถึงเรียนดนตรีไปเพื่อประกอบอาชีพหลัก ดังนั้นทั้งผู้ศึกษาดนตรีไทยและดนตรีสากล ล้วนมีเป้าหมายเพื่อไปเป็นนักดนตรี สิ่งเดียวที่จะสามารถเป็นนักดนตรีได้ คือการเล่นดนตรีได้หรือเล่นดนตรีเป็น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงปรากฏงานเอกสารทางวิชาการด้านดนตรีในยุคก่อน เป็นจำนวนที่น้อยมาก ภายหลังจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น  ในการจัดการเรียนการสอนด้านดนตรี แนวความคิดที่จะพัฒนาด้านวิชาการ หรือทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติจึงได้เกิดขึ้น ส่งผลให้มีเอกสารเชิงวิชาการในแง่มุมต่างๆ ด้านดนตรีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ปรากฏในเอกสารวิชาการก็ยังคงจำกัดพื้นที่เฉพาะในกรอบเนื้อหาดนตรีตะวันตก ดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมืองเป็นหลัก

           เอกสารวิชาการที่นำเสนอเนื้อหาด้านดนตรีเอเชียเป็นการเฉพาะเป็นเล่มแรกของไทย คือ หนังสือดนตรีอินเดีย เป็นงานเขียนของ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ซึ่งในระยะต่อมานักวิชาการท่านนี้ได้ศึกษาดนตรีเอเชียอีกหลายวัฒนธรรม เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาด้านดนตรีเอเชีย หนังสือดนตรีลาวเดิมเป็นหนังสือในเอกสารวิชาการข้างต้น ซึ่งเป็นหนังสือที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งในตลาดหนังสือเมืองไทย ที่บุคคลในแวดวงวิชาการดนตรีรู้จักและให้การยอมรับเป็นอย่างดี

          หนังสือดนตรีลาวเดิม เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์  พิกุลศรี จัดพิมพ์โดย ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยเรื่อง ดนตรีลาวเดิมหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ ปี ค.ศ.1975 โดยเก็บข้อมูลภาคสนาม ช่วงประมาณปี พ.ศ.2546-2548 จึงนับเป็นผลงานวิจัยด้านดนตรียุคแรกๆ ที่มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังจากรัฐบาลลาวทำการเปิดประเทศตามแนวคิด “จินตนาการใหม่”

          ผู้เขียนได้วางโครงสร้างการนำเสนอเป็น 2 ส่วน โดยใช้ระยะเวลาที่เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ลาวเป็นตัวแบ่ง ส่วนแรกเป็นระยะเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือก่อนปี ค.ศ.1975 และส่วนที่สองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 โดยในแต่ละส่วนได้วางกรอบเนื้อหาเครื่องดนตรี วงดนตรี บทเพลง และบทบาทหน้าที่ของดนตรีที่มีต่อสังคม ความโดดเด่นของการนำเสนอเนื้อหาในส่วนแรก เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่เคยปรากฏการนำเสนอในเอกสารใดๆ มาก่อนการเกิดงานเขียนฉบับนี้ ผู้เขียนอาศัยหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติ ภาพงานจิตรกรรม และเอกสารประวัติศาสตร์ มาบูรณาการและวิเคราะห์จนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ดนตรีของลาว ดังความตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้ศึกษาจากงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของมหาคำจำปา แก้วมณี ที่ได้อ้างอิงบันทึกของท่านวันวุสตอบ ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศลาวในช่วงนั้น ดังนี้

          เมื่อตะวันตกดินแล้ว มหาดเล็กนำเสื่อมาปูในที่เดิม เอาตะเกียงมาจุด มีนางสนม 4 นาง มีแต่สาวรุ่น ๆ นุ่งเครื่องแปลกประหลาดออกมาพ้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วทุกคนก็ได้รับรางวัลเป็นผ้าเพียงคนละ 1 ผืน สีขาว และสีเหลือง ต่อจากนั้นก็มีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาฟ้อนรำอีกมีหางนกยูง ท้ายสุด ก็มีการจุดบั้งไฟ

          จากข้อความตามที่ท่านวันวุสตอบได้บันทึกไว้นั้น ได้ให้ข้อมูลที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการดนตรีและการแสดงในราชสำนักลาวในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยท่านวันวุสตอบได้แยกชุด การแสดงเป็น 2 ชุด ชุดแรกนุ่งเครื่องแต่งกายประหลาดออกมาฟ้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยใช้ผู้ฟ้อน 4 คน ส่วนชุดที่สองใช้ผู้ฟ้อนเพียงคนเดียว แต่งกายโดยมีส่วนหลังประดับด้วยหางนกยูง

          ถึงแม้จะไม่มีข้อความใด ๆ กล่าวถึงดนตรีในข้อความตามบันทึกของท่านวันวุสตอบ แต่จากการที่วันวุสตอบพยายามจะอธิบายว่า นางทั้งสี่คนนั้นแต่งตัวประหลาด น่าจะคาดเดาได้ว่าเป็นชุดเครื่องแต่งกายของนางละคร หรือชุดเครื่องใหญ่ ที่ผู้รำ (ฟ้อน) จะต้องสวมชฏาด้วย สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งแปลกหรือสิ่งประหลาดในสายตาของวันวุสตอบ ในฐานะที่เป็นคนต่างวัฒนธรรมในประเด็นดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นทางดนตรีได้ดังนี้

          ในกรณีที่หากเป็นการแสดงละคร จะเชื่อมโยงกับการใช้วงปี่พาทย์ (พิณพาทย์) ซึ่งเป็นวงที่ใช้ประกอบการแสดง ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับบทเพลงประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นจำนวนมาก อาทิ เพลงโหมโรงเพลงหน้าพาทย์ เพลงสองชั้น เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการแสดงละครเพราะท่าน  วันวุสตอบได้ระบุชัดเจนว่าใช้เวลาฟ้อนถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นระยะเวลานานเกินกว่าจะเป็นการฟ้อนหรือรำที่เป็นชุด ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการแสดงแต่ละชุดเฉลี่ยประมาณ 10 – 15 นาที

          ในกรณีที่การแสดงชุดดังกล่าวไม่ได้เป็นการแสดงละคร แต่เป็นการฟ้อนในกรณีนี้ก็ยังสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงความหลากหลายด้านดนตรีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นชุดฟ้อนที่ผู้แสดงต้องสวมเครื่องใหญ่ ตามบันทึกของท่านวันวุสตอบที่ระบุว่านุ่งเครื่องแต่งกายที่แปลกประหลาดนั้น ในเชิงของดนตรีล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้วงปี่พาทย์ (พิณพาทย์) และเกี่ยวข้องกับเพลงหน้าพาทย์ด้วย เช่นกัน

          สำหรับการแสดงชุดที่ 2 ท่านวันวุสตอบพรรณนาอย่างชัดเจนว่าใช้ผู้ฟ้อนเพียงคนเดียว พร้อมทั้งพรรณาการแต่งกายอย่างสามารถเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงฟ้อนนกยูง ซึ่งในปัจจุบันการแสดงในชุดดังกล่าวปรากฏพบได้ทั่วไป ตั้งแต่แถบภาคใต้ของจีนบริเวณมณฑลยูนนาน กวางสีกลุ่มชาวไทใหญ่ในพม่าและวัฒนธรรมล้านนาของประเทศไทย เรื่อยมาจนถึงหมู่เกาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแสดงชุดนี้โดยธรรมชาติจะแตกต่างจากการแสดงในชุดแรกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตในการบันทึกของท่านวันวุสตอบ โดยดนตรีประกอบฟ้อนในชุดนี้อาจเป็นไปได้ที่จะใช้วงดนตรีวงเดียวกับกับการแสดงในรายการแรก หรืออาจจะใช้เครื่องดนตรีของชนเผ่าต่าง ๆ

          สำหรับในส่วนที่สองของหนังสือดนตรีลาวเดิม เป็นสาระเนื้อหาดนตรีหลังปี ค.ศ.1975 สัมผัสได้ว่าผู้เขียนอาศัยข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ โดยวิธีสังเกตและสัมภาษณ์เป็นหลัก ทั้งข้อมูลด้านเครื่องดนตรี วงดนตรี บทเพลงและบทบาทหน้าที่ และบริบทด้านต่างๆ เมื่ออ่านหนังสือดนตรีลาวเดิมเล่มนี้จบแล้ว ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างเนื้อหาส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ระหว่างความเป็นราชสำนักกับความเป็นสังคมนิยม ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการทางสังคมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

          ถึงแม้หนังสือดนตรีลาวเดิม จะมีคุณูปการต่อการศึกษาดนตรีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ภาพการนำเสนอยังคงรวบรวมข้อมูลที่กรุงเวียงจันทน์เป็นหลัก ทั้งนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดด้านเวลาตามข้อกำหนดของการวิจัยและข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการเดินทางในช่วงระยะเวลาที่ประเทศลาวได้ทำการเปิดประเทศระยะแรกๆ ดังนั้น หากเพิ่มพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่เป็นเมืองหลักด้านดนตรีลาวเดิม เช่น หลวงพระบางและจำปาสัก จะทำให้หนังสือลาวเดิมมีความสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หนังสือดนตรีลาวเดิมของ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ถือเป็นต้นแบบและฐานที่สำคัญให้กับผู้สนใจศึกษาดนตรีลาวเดิมในรุ่นหลัง ได้ใช้เป็นแนวทางและต่อยอดในการศึกษาในระยะต่อมา 

Article Details

How to Cite
Chakrapong Chomphupit จ. ช. (2016). บทวิจารณ์หนังสือ ดนตรีลาวเดิม. Journal of Fine and Applied Arts Khon Kaen University, 7(2), 249–253. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/fakku/article/view/47016
Section
Academic Articles