จริยธรรมในการตีพิมพ์

จรรยาบรรณของกองบรรณาธิการ

1) กองบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร

2) กองบรรณาธิการวารสารจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

3) กองบรรณาธิการวารสารจะรับผิดชอบต่อการจัดทำวารสารที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส ยึดมั่นต่อการดำเนินงานตามกระบวนการผลิตวารสารที่กำหนด ซื่อสัตย์ต่อบทบาทหน้าที่

4) กองบรรณาธิการวารสารจะคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำซ้อนกับงานในอดีต ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

5) กองบรรณาธิการวารสารมีกระบวนการประเมินคุณภาพบทความที่ปราศจากอคติ เป็นธรรมและไม่ล่าช้า โดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆ

6) กองบรรณาธิการไม่ร้องขอให้มีการอ้างอิงผลงานใดเพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิง (citation) หรือค่า impact factor ของวารสารหรือเพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิงของผลงานของตนหรือพวกพ้อง

7) กองบรรณาธิการวารสารไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร

8) หากกองบรรณาธิการวารสารตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนบทความเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น

จรรยาบรรณของผู้เขียนบทความ

1) ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ตามแบบฟอร์มของวารสาร พร้อมทั้งรายงานขอเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ

2) ผู้เขียนบทความควรเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำผู้เขียน”

3) ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่าบทความไม่ได้ลอกเลียนผลงาน (plagiarism) ทั้งของตนเองและผู้อื่น และมีการอ้างอิงผลงานอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามข้อกำหนดของวารสาร

4) ผู้เขียนบทความต้องรับผิดชอบต่อการนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการของตนที่จะเผยแพร่ในวารสาร และการนำเสนอบทความให้กับวารสารนั้นจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น

5) ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง และผู้เขียนทุกคนจะต้องเห็นชอบกับต้นฉบับบทความและเห็นชอบกับการส่งต้นฉบับบทความนั้นให้วารสารพิจารณาตีพิมพ์

6) ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการวิจัยนี้ (ถ้ามี)

จรรยาบรรณของผู้ประเมินบทความ

1) ผู้ประเมินบทความควรประเมินคุณภาพบทความด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ ให้ข้อคิดเห็นตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ นำไปสู่การปรับปรุงบทความที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ

2) ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (confidentiality)

3) ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย

4) หากพบว่าผู้เขียนบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ประเมิน หรือผู้เขียนบทความกระทำผิดจรรยาบรรณ เช่น ลอกเลียนผลงานวิชาการ บิดเบือนผลการวิจัย หรือใช้ผลการวิจัยเท็จ ต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบ