การประเมินผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย
Main Article Content
บทคัดย่อ
ทักษะพิสัย เป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับทักษะของร่างกาย เช่น ทักษะทางการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ รวมทั้งการประสานงานของสมองและกล้ามเนื้อ หรือด้านประสาทและกล้ามเนื้อ ทักษะพิสัยรวมอยู่ในการเรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่การเขียนซึ่งเกี่ยวกับการใช้ดินสอ ปากกา การวาดรูป การพูด ตลอดจนการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การพิมพ์ การใช้เครื่องคิดเลข ความสามารถในการปฏิบัติหรือกระทำสิ่งต่างๆ โดยใช้อวัยวะหรือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายประสานกับจิตใจและสมอง เช่น การรำและการเต้น การอ่านทำนองเสนาะ การวาดภาพ การเล่นดนตรี เป็นต้น ทักษะพิสัยจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรม การทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย
พฤติกรรมด้านทักษะพิสัยของผู้เรียน เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้นเริ่มตั้งแต่การรับรู้และการปฏิบัติพื้นฐาน การเตรียมความพร้อมและการเลียนแบบ การฝึกปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยความชำนาญ และการปรับเปลี่ยนหรือสร้างปฏิบัติการ การวัดทักษะพิสัยจะวัดจากการให้ผู้ที่ถูกวัดแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ทำการวัดสังเกตเห็น และตัดสินระดับความสามารถในการปฏิบัติว่าสามารถทำได้เท่าใด ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ โดยผลการปฏิบัติของผู้ถูกวัดเป็นผลของความสามารถทางสมองและความสามารถทางกายผสมกัน การวัดทักษะพิสัยเป็นการวัดที่ใช้สถานการณ์เพื่อทดสอบการปฏิบัติงานของบุคคลกระบวนการวัดทักษะพิสัย มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการวัดด้านจิตพิสัย เนื่องจากการวัดผลด้านทักษะพิสัยจำเป็นต้องมีการจัดสภาพการณ์ให้ผู้เรียนได้มีการปฏิบัติจริง ผู้สอนต้องใช้การสังเกตพฤติกรรมการทำงานของผู้เรียนในระหว่างการปฏิบัติงาน
เครื่องมือวัดและประเมินผลทักษะปฏิบัติ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องมือประเภทที่ใช้การทดสอบ และเครื่องมือประเภทไม่ใช้การทดสอบ เครื่องมือประเภทที่ไม่ใช้การทดสอบเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบการสังเกต การปฏิบัติงาน ประเภทของเครื่องมือวัดทักษะพิสัยจึงมีลักษณะเป็นแบบประเมินที่ใช้ประกอบการสังเกตของผู้ประเมิน แบ่งตามลักษณะการประเมินได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ (checklist) แบบประเมินค่า (rating scale) และเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค (scoring rubric)
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิพิธพัฒนศิลป์ ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้แต่งเท่านั้น โดยกองบรรณาธิการวารสารไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาหรือข้อคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในบทความ
References
กมลวรรณ ตังธนกานนท์. (2557). การวัดและประเมินทักษะการปฏิบัติ. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชนันธร หิรัญเชาว์. (2562). การพัฒนาทักษะนาฏศิลป์ไทยและความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวคิดของเดวีส์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น. [วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดาราณี ระงับทุกข์. (2558). การสร้างแบบวัดภาคปฏิบัติรำวงมาตรฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. [วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.
พิชิต ฤทธิ์จรูญ. (2556). หลักการวัดและประเมินผลการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 8. เฮ้าส์ ออฟ เคอร์มิสท์.
สังวรณ์ งัดกระโทก. (2557). ลำดับขั้นของเจตพิสัยและทักษะพิสัย. ในเอกสารการสอนชุดวิชา การพัฒนาเครื่องมือวัดด้านเจตพิสัยและทักษะพิสัย. หน่วยที่ 2. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สุวิมล ว่องวาณิช. (2557). การพัฒนาแบบวัดทักษะปฏิบัติ. ในเอกสารการสอนชุดวิชา การพัฒนาเครื่องมือวัดด้านเจตพิสัยและทักษะพิสัย. หน่วยที่ 12. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. (2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. พริกหวาน กราฟฟิค.