ปัจจัยความสำเร็จการจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่กาแฟ หมู่ 7 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่กาแฟหมู่ 7 2) ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่หมู่ 7 3) ปัจจัยความสำเร็จการจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่กาแฟหมู่ 7 โดยเป็นงานวิจัยแบบผสมวิธี ประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ ประชากร คือ สมาชิกแปลงใหญ่กาแฟหมู่ 7 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอกระบุรี พ.ศ. 2566 จำนวน 30 ราย เก็บข้อมูลจากประชากรทั้งหมด โดยใช้แบบสอบถาม และการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า ผู้นำชุมชน และนักวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องจำนวน 32 ราย โดยการประชุมกลุ่มเครื่องมือที่ใช้ คือ แบบบันทึกการประชุมกลุ่ม ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณา และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) การจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่กาแฟมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีครบทั้ง 8 ขั้นตอน 2) ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่ ปัญหาที่พบ ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว เกษตรกรแก้ปัญหาโดยการรวมแรงงานในการเก็บเกี่ยว และปัญหาด้านการตลาด แก้ปัญหาโดยการอบรมพัฒนาตราสินค้า การขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากาแฟ และ 3) ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการการผลิตกาแฟโรบัสต้าของสมาชิกแปลงใหญ่ ประกอบด้วย (1) ปัจจัยภายใน ได้แก่ บทบาทของผู้นำกลุ่มที่มีการวางแผนจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การรวมกลุ่มที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนความรู้ และ (2) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนและการฝึกอบรมจากภาครัฐและเอกชน อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการค้า
โดยผลลัพธ์ที่ได้ต่อสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 30 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP สำหรับกาแฟ ผลผลิตกาแฟของกลุ่ม นอกจากจะส่งโรงงาน/แหล่งรับซื้อ ทางกลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีตราสินค้าของกลุ่ม จำหน่ายในช่องทางต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดระนอง และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG กาแฟระนอง) โดยมุ่งพัฒนาการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร เครือข่าย มีการยกระดับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ และคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
Article Details
References
กรมส่งเสริมการเกษตร. (2556). องค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่การเป็น smart officer ไม้ผล ไม้ยืนต้น, กรมส่งเสริมการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
กรมส่งเสริมการเกษตร. (2557). การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ, กรมส่งเสริมการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ขนิษฐา บุญคำมา. (2564). แนวทางการส่งเสริมการผลิตกาแฟของเกษตรกรในอำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
จินดารัตน์ ชูคง. (2563). ปัจจัยสู่ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษากลุ่มเกษตรกรทำสวน เขาทะลุ ตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร. ค้นคว้าอิสระปริญญารัฐศาสตมหาบัณฑิต. สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สินีนาฎ จำนงค์, พัชราวดี ศรีบุญเรือง และ ชลาธร จูเจริญ. (2563). ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมัน ตามมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน อำเภอ สิเกา จังหวัดตรัง. วารสารเกษตรพระจอมเกล้า. 38 (3), 408-409.
เอกราช บุญล้อมรักษ์. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสมของผู้ปลูกกาแฟในตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. ค้นคว้าอิสระปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาส่งเสริมการเกษตร. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.