การพัฒนาคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง และ 2) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยแบ่งการดำเนินการวิจัยเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การสังเคราะห์และตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง และขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบคุณภาพของคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง กลุ่มตัวอย่างในการทดลองใช้คู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้องใช้วิธีการการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น (Probability Sampling) คือ นิสิตเอกขับร้อง วิทยาลัยดุริยางคคิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 40 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการหาความเชื่อมั่นของผู้ประเมิน (RAI) การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ด้วยสูตร Pearson Product Moment และหาคุณภาพด้านความเชื่อมั่นของแบบวัดเจตคติด้วยสูตร α - Coefficient ของ Cronbach
ผลการศึกษา พบว่า คู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้องประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 บทนำ ส่วนที่ 2 องค์ประกอบของการประเมินทักษะการขับร้อง ส่วนที่ 3 แนวทางการประเมินทักษะการขับร้อง ส่วนที่ 4 ตัวอย่างแบบประเมินทักษะการขับร้องและแบบประเมินเจตคติต่อการขับร้อง ซึ่งเกณฑ์การประเมินทักษะการขับร้องกำหนดไว้ทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความถูกต้องของจังหวะและระดับเสียง 2) ด้านเทคนิคการขับร้อง 3) ด้านความชัดเจนของภาษา 4) ด้านสำเนียงเสียงในการขับร้อง 5) ด้านการถ่ายทอดอารมณ์เพลง 6) ด้านความจำ และ 7) ด้านบุคลิกภาพ รายการประเมินประกอบด้วย 11 ข้อ คือ ข้อที่ 1 ความถูกต้องของจังหวะ ข้อที่ 2 ความถูกต้องของทำนองเพลง ข้อที่ 3 ความแม่นยำและความแข็งแรงในการปฏิบัติขับร้องเสียงสูง ข้อที่ 4 ความแม่นยำและความแข็งแรงในการปฏิบัติขับร้องเสียงต่ำ ข้อที่ 5 ความชัดเจนในการปฏิบัติเทคนิคเฉพาะของบทเพลง ข้อที่ 6 ออกเสียงภาษาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ข้อที่ 7 ความถูกต้องและความเหมาะสมของสำเนียงเสียงที่ขับร้องกับประเภทบทเพลงที่ขับร้อง ข้อที่ 8 การถ่ายทอดอารมณ์เพลงผ่านสีหน้า แววตา และท่าทาง ข้อที่ 9 ความแม่นยำในเนื้อหาของบทเพลงที่ใช้ในการขับร้อง ข้อที่ 10 ความเหมาะสมของท่าทางการยืนและการจับไมค์โครโฟน และข้อที่ 11 แต่งกายได้เหมาะสมกับบทเพลงที่ขับร้อง ผลการหาคุณภาพของคู่มือวิธีการประเมินทักษะการขับร้อง พบว่า ค่าความเชื่อมั่นของผู้ประเมิน (RAI) เท่ากับ 0.992 จึงถือได้ว่าแบบประเมินที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีคุณภาพด้านความเชื่อมั่นของผู้ประเมิน 2 คน แสดงให้เห็นว่าแบบประเมินที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีคุณภาพด้านความเชื่อมั่นในระดับที่เชื่อถือได้ ค่าความเชื่อมั่นของแบบประเมิน เท่ากับ 0.952 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แบบประเมินมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่สูงและเหมาะสม อีกทั้งค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเจตคติมีค่าเท่ากับ 0.851 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบบวัดเจตคติที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีคุณภาพด้านความเชื่อมั่นของแบบวัดค่อนข้างสูง
Article Details
References
ณัฐพล เลิศวิริยะปิติ. (2563). การสร้างแบบฝึกทักษะการตีฆ้องวงใหญ่:กรณีศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักดนตรีไทยบ้านอรรถกฤษณ์. ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล. (2547). สานฝันด้วยเสียงเพลง. สำนักพิมพ์บ้านเพลง.
ปาริฉัตร สุ่มมาตย์. (2564). การศึกษาผลสัมฤทธิ์การขับร้อง 2 แนว โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือตามแนวคิดคาแกนสำหรับผู้เรียนอายุ17 - 18 ปี. ปริญญาดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาสังคีตวิจัยและพัฒนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วรางคณา จูเจริญ. (2561). การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะการขับร้องโดยใช้การจัดการเรียนรู้ แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับแนวคิดของโคดาย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
สลิลทิพย์ สุวรรณมณี. (2564). การศึกษาเทคนิคและวิธีการฝึกซ้อมขับร้องเพลงสากลของพริมาภา กรโรจนชวิน. งานวิจัย วิทยาลัยการดนตรี. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
สาวิตรี รุ่งศิริ. (2561). การพัฒนาแบบประเมินการปฏิบัติการเป่าขลุ่ยไทยพื้นฐาน. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยและประเมินทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Cronbach, L. J. (1951). Coefficient alpha and the internal structure of tests. Psychometrika,
Pearson, K. (1895). Note on Regression and Inheritance in the Case of Two Parents. Proceedings of the Royal Society of London. 58, 240-242.
Wiggins, G., & McTighe, J. (1998). Understanding by Design. Alexandria, VA: Association for Supervision and Curriculum Development (ASCD).