การประเมินผลกระทบสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการทางการคลังต่อเศรษฐกิจไทย: วิธีเมตริกซ์บัญชีสังคม

Main Article Content

มานะ ลักษมีอรุโณทัย

บทคัดย่อ

          โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบสถานการณ์ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ในปีพ.ศ. 2563 และประเมินผลกระทบของมาตรการทางการคลังที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดยใช้เมตริกซ์บัญชีสังคมของประเทศไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต บัญชีรายได้ประชาชาติ ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน และข้อมูลภาษีอากรต่างๆ และจัดทำบัญชีเมตริกซ์สังคม ปี พ.ศ. 2558 ที่มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2563 จากผลการศึกษา พบว่า ค่าตัวคูณทวีด้านผลผลิต โดยเฉลี่ยในทุกสาขาการผลิตของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563 มีค่าเท่ากับ 3.526 ค่าตัวคูณทวีด้านมูลค่าเพิ่ม เท่ากับ 1.523 และค่าตัวคูณทวีด้านรายได้ เท่ากับ 1.387 โดยในปี 2563 มูลค่าการส่งออกและรายได้ของภาคการท่องเที่ยวไทย หดตัวร้อยละ 8.21 และ 70.95 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งประเมินว่า จะส่งผลกระทบ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ต่อผลผลิตรวมภายในประเทศ โดยมีแนวโน้มหดตัว ร้อยละ 6.23 และ 25.22 ตามลำดับ
          ทั้งนี้ มาตรการทางการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ประเมินว่า งบประมาณของโครงการ ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 - ธ.ค. 2564 มูลค่า 509,740 ล้านบาท จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะสั้นให้แก่ประเทศ 902,212 ล้านบาท จากผลของค่าตัวคูณทวี อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐแล้ว ระดับความรุนแรงผลกระทบและทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านระยะเวลาการล็อกดาวน์ ระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับภาคต่างประเทศและความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าการผลิตโลก และพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจและความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะและปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2564). ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ ประเมิน ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2564. การประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 12 กรกฎาคม 2564. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Monet PolicyComittee/MPR/DocLib/AnalystMeeting2564.pdf.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2564). มูลค่าและปริมาณสินค้าออกจำแนกตามกิจกรรมการผลิต. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564. แหล่งที่มา: https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ BOTWEBSTAT.aspx?reportID=748&language=TH.

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. (2564). โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเราชนะสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. แหล่งที่มา: http://www.fpo.go.th.

Keynes, J. M. (1936). The General Thoery of Employment, Interest and Money. New York: Harcourt, Brace and Company.

Leontief, W. (1966). Input-Output Economics. New York: Oxford University Press.

United Nations. (1999). Handbook of Input-Output Table Compilation and Analysis, Studies in Methods, Series F, Number 74. New York: United Nations.

Xinshen Diao et al. (2020). Assessing the Impacts of COVID-19 on Myanmar’s Economy: A Social Accounting Matrix (SAM) Multiplier Approach. Project Paper. Washington, DC: International Food Policy Research Institute.